วันพุธที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2552

ลักษณะทางเศรษฐกิจของจังหวัดเชียงใหม่

ลักษณะทางเศรษฐกิจของจังหวัดเชียงใหม่

จังหวัดเชียงใหม่เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจในภาคเหนือของประเทศไทย รายได้หลักของประชากรมาจากการเกษตรกรรมและการท่องเที่ยว หากพิจารณาโครงสร้างทางเศรษฐกิจของจังหวัด ประกอบด้วยอาชีพที่สำคัญแยกได้ตามลำดับความสำคัญ ดังนี้

1. การเกษตรกรรม
.

1.1 การทำนา ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพในการทำนามีถึงร้อยละ 80 ของประชากรทั้งหมด ในบางอำเภอสมารถทำนาได้ปีละ 2 ครั้ง เช่นอำเภอสันป่าตอง เพราะอยู่ในพื้นที่รับน้ำชลประทาน บริเวณที่เพาะปลูกข้าวอยู่ตามที่ราบริมฝั่งแม่น้ำ และที่ราบระหว่างภูเขา ข้าวที่ปลูกจะปลูกข้าวเหนียวซึ่งเอาไว้รับประทานมากกว่าข้าวเจ้าซึ่งเอาไว้ขาย เริ่มปลูกตั้งแต่เดือนมิถุนายนเป็นต้นไปและเก็บเกี่ยวประมาณเดือนธันวาคม การทำนาจะมีทั้งนาปีหรือนาดำและทำนาปรัง
.

1.2 การปลูกพืชไร่ มีการปลูก 2 ฤดู คือทำไร่ในฤดูฝน คือ ทำไร่ในฤดูฝน กับทำไร่หลังฤดูทำนา คือหลังจากเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว พืฃที่ปลูกได้แก่ ผักต่างๆ เช่นกะหล่ำปลี ผักกาดขาว ผักกาดหางหงส์ ถั่วลันเตา แตงกวา ซึ่งจะปลูกมากในเขตอำเภอฝาง แม่แตง สันทราย แม่ริม สันป่าตอง จอมทอง สันกำแพง และดอยสะเก็ด
.

นอกจากพวกผักต่างๆแล้ว พืชไร่เศรษฐกิจที่ทำรายได้ให้แก่เกษตรกรได้แก่ ถั่วเหลือง ถั่วลิสง กระเทียม ยาสูบและใบชาเป็นต้น
.

1.3 การทำสวนผลไม้ มีลำไย ลิ้นจี่ มะม่วง โดยเฉพาะลำไยทำรายได้ให้แก่ชาวสวนมาก อำเภอที่ปลูกลำไยมากคือ อำเภอสารภี นอกจากลำไยยังมีการทำสวนส้ม ปัจจุบันที่มีชื่อเสียงมีเนื้อที่ปลูกประมาณ 1,000 ไร่ ของสวนธนาธร ในเขตอำเภอฝาง ได้แก่พันธุ์ฟรีมองต์ พันธุ์สายน้ำผึ้ง เป็นต้น ลิ้นจี่ปลูกมากในเขตอำเภอฝาง อำเภอไชยปราการ อำเภอแม่อาย นอกจากนี้ยังมีสตรอเบอรี่ นิยมปลูกทั่วไปในบริเวณเชิงเขา ผลผลิตออกมามากในช่วงฤดูหนาวประมาณเดือนธันวาคม ถึงเดือนกุมภาพันธ์
.

1.4 การทำป่าไม้ จังหวัดเชียงใหม่มีพื้นที่ป่าไม้มากที่สุดในภาคเหนือ อาชีพการทำป่าไม้มีมานานแล้ว ทำรายได้ให้แก่ผู้ดำเนินกิจการเป็นอย่างมากแต่ปัจจุบันพื้นที่ป่าไม้ลดลง เนื่องจากการบุกรุกทำลายป่าของชาวเขาที่ต้องการพื้นที่ทำไร่เลื่อนลอย การใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติของหน่วยราชการต่างๆ เช่นการตัดถนน การสร้างอ่างเก็บน้ำ นอกจากนี้ยังมีการบุกรุกตัดไม้ของนายทุน การทำป่าไม้จึงมีในท้องที่อำเภอทุกอำเภอ
.

1.5 การเลี้ยงสัตว์ ส่วนใหญ่เป็นการเลี้ยงเพื่อการบริโภค และการใช้แรงงาน เช่น โค กระบือ ม้า ใช้เป็นพาหนะและบรรทุกของในชนบท สัตว์ที่เลี้ยงเป็นอาหาร เช่นเป็ด ไก่ สุกร แพะ และปลา ปัจจุบันสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดได้ดำเนินการปรับปรุงพันธ์โคนม โคเนื้อโดยใช้พ่อพันธ์คุมฝูงและวิธีการผสมเทียม มีการส่งเสริมให้เอกชนลงทุนด้านฟาร์มโคนม ให้ผลผลิตน้ำนมพอเพียงแก่การบริโภคของประชากรในเชียงใหม่
.

1.6 การประมง สภาพการประมงในจังหวัดเชียงใหม่เป็นการทำประมงน้ำจืดจากแหล่งน้ำธรรมชาติ เช่นแม่น้ำปิง เขื่อนต่างๆ เป็นต้น ส่วนใหญ่มักจะทำเพื่อการบริโภค อาชีพการประมงยังไม่แพร่หลายมากนัก แต่อย่างไรก็ตามปัจจุบันทางราชการได้มีการส่งเสริมการเลี้ยงปลาพันธุ์ต่างๆ เช่นปลาไน ปลานิล ปลายี่สกเทศ ปลาตะเพียนขาว ปลาสวาย ปลาทับทิม เป็นต้น
.

2. การอุตสาหกรรม
โรงงานอุตสาหกรรมในจังหวัดเชียงใหม่ส่วนใหญ่เป็นโรงงานอุตสาหกรรมขนาดย่อม และอุตสาหกรรมในครอบครัว ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับผลผลิตทางการเกษตร เช่นโรงสีข้าว โรงงานน้ำตาล โรงงานสุรา โรงบ่มใบยาสูบเป็นต้น นอกจากนี้ยังมีโรงงานอุตสาหกรรมเครื่องปั้นดินเผา ทำไม้ โม่บดหิน อาหารกระป๋อง ผลไม้กระป่อง เป็นต้น
.

สำหรับอุตสาหกรรมเพื่อการท่องเที่ยว คือการทำร่ม แกะสลัก ตัดเย็บเสื้อผ้า ของที่ระลึกต่างๆ เครื่องเงิน เครื่องเขิน เนื่องจากเชียงใหม่มีวัตถุดิบที่สำคัญและมีแรงงานที่ชำนาญงานและยังเป็นแหล่งตลาดที่สำคัญของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ
.

การแกะสลักไม้ เป็นการแกะสลักเป็นรูปต่างๆ ที่นิยมกันมากคื่อรูปช้าง ปัจจุบันแหล่งแกะสลักที่มีชื่อเสียงได้แก่ อำเภอสันกำแพง ,บ้านถวายอำเภอหางดง
.

เครื่องเงิน หมู่บ้านวัวลาย ถนนวัวลาย อำเภอเมืองเชียงใหม่ เป็นแหล่งผลิตเครื่องเงินอันลือชื่อของเชียงใหม่ ซึ่งเป็นอาชีพที่สืบต่อกันมาปรากฏตามตำนานเมืองเหนือว่า ได้เข้ามาอยู่ในเชียงใหม่ในสมัยพระเจ้าช้างเผือก หรือพระเจ้าน้อยธรรมลังกา ประมาณปี พ.ศ.2353 อาชีพการทำเครื่องเงินมีในอำเภอต่างๆ โดยมากจะทำในบริษัทที่จัดตั้งขึ้นเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว เช่นตามเส้นทางจากอำเภอเมืองเชียงใหม่ไปอำเภอสันกำแพง
.

3. การค้าและบริการ
.

3.1 การค้า
ธุรกิจส่วนใหญ่จะตั้งอยู่ในเขตอำเภอเมืองเชียงใหม่ และกระจายไปยังอำเภอต่างๆ ที่มีสภาพเศรษฐกิจดี เช่น อำเภอสันกำแพง สันทราย สันป่าตอง แม่ริม ฝาง และสารภี เชียงใหม่เป็นศุนย์กลางทางธุรกิจภาคเหนือที่มีความสะดวกในการคมนาคมขนส่งสินค้าสำคัญได้แก่ สินค้าการเกษตร และสินค้าพื้นเมือง เช่นเสื้อผ้าพื้นเมือง เครื่องเงิน เครื่องเขิน ไม้แกะสลัก เป็นต้น เชียงใหม่มีตลาดสดและศูนย์การค้าหลายแห่ง เช่น ตลาดวโรสร (กาดหลวง) ตลาดต้นลำใย ศูนย์การค้ากาดสวนแก้ว ศูนย์การค้าโรบินสัน แอร์พอร์ต ในท้องถิ่นอื่นๆมีธุรกิจเป็นตลาดนัดสินค้า (กาดวัว) มีกำหนดนัดผลัดเปลี่ยนกันไปในแต่ละพื้นที่
.

3.2 การบริการ
.

ธุรกิจด้านการบริการการท่องเที่ยว เป็นอาชีพที่สำคัญมากอย่างหนึ่งของจังหวัดเชียงใหม่โดยเฉพาะ กิจการด้านโรงแรม มีโรงแรมที่ทันสมัยสะดวกสบายมากมาย การขนส่ง ทางรถไฟ เครื่องบินและรถยนต์ที่สะดวกสบาย ภัตราการ ร้านอาหาร ซึ่งสามารถรับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศได้อย่างพอเพียง
.

4. การท่องเที่ยว
จังหวัดเชียงใหม่เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวของจังหวัดภาคเหนือตอนบน เนื่องจากเป็นจังหวัดที่มีความอุดมสมบูรณ์ทั้งทางด้านทรัพยากรทางการท่องเที่ยว ทั้งทางด้านแหล่งท่องเที่ยวประเภทธรรมชาติ ประเภทประวัติศาสตร์ โบราณคดีและวัฒนธรรมประเพณี ประชาชนชาวเชียงใหม่มีความภาคภูมิใจในความเป็นมาอันยาวนานของตนเอง ในปี พ.ศ. 2543 ซึ่งเป็นปีขึ้นสหัสวรรษใหม่
.

เชียงใหม่ก็จะมีอายุได้ 704 ปี ชาวเชียงใหม่เป็นคนที่มีนิสัยรักสงบ มีความโอบอ้อมอารี หน้าตายิ้มแย้มแจ่มใสและมีความขยันหมั่นเพียรในการประกอบอาชีพ
.

ปัจจุบันจังหวัดเชียงใหม่มีความเจริญก้าวหน้ามากอาจกล่าวได้ว่าเป็นเมืองหลวงแห่งที่สอง รองจากกรุงเทพฯ มีสถานศึกษาที่ดีตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงมหาวิทยาลัยที่จะให้ลูกหลานชาวเชียงใหม่ได้เลือกเข้าศึกษา และโดยเฉพาะการท่องเที่ยวที่ทำรายได้ให้กับประชาชนเชียงใหม่ อันเกิดจากการที่จังหวัดเชียงใหม่ได้รับขนานนามว่า “กุหลาบงามของเมืองไทย” เนื่องจากมีความงดงามของธรรมชาติ ภูมิอากาศ มีโบราณสถาน โบราณวัตถุอันเก่าแก่ ตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณี และวัฒนธรรมที่เก่าแก่ ล้วนแต่เป็นสิ่งดึงดูดใจของนักท่องเที่ยว
.
ที่มา:http://www.peeso.itgo.com/eco_cm.htm

วันเสาร์ที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2552

ร่วมกันแถลงข่าวการจัดงาน “Chiang Mai Grand Sale 2009"





นายชูชาติ กีฬาแปง รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ , นายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ , นายณรงค์ คองประเสริฐ ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ , คุณธารทิพย์ ทองงามขำ ประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงใหม่ และนายวัยรักษ์ วลัยรัตน์ ได้ร่วมกันแถลงข่าวการจัดงาน “Chiang Mai Grand Sale 2009” (ม่วนก๋าย ม๋วนใจ๋ แอ่วเชียงใหม่แกรนด์เซล) เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2552 เวลา 15.00 น. ณ ห้องพิณทอง โรงแรมเชียงใหม่แกรนด์วิว เพื่อประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้นักท่องเที่ยวได้เดินทางมาเที่ยวในจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจังหวัดเชียงใหม่ และเป็นการสร้างโอกาส ให้กับ ผู้บริโภค โดยที่ผู้ประกอบการ ห้าง ร้าน ในจังหวัดเชียงใหม่ ได้ร่วมกันจัดโปรโมชั่น ลดราคาสินค้าและบริการลงถึง 30 – 70% ในระหว่างวันที่ 31 พฤษภาคม 2552 ถึง 2 สิงหาคม 2552 ซึ่งจะมีพิธีเปิดงานดังกล่าวในวันที่ 31 พฤษภาคม 2552 ณ บริเวณอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ รายละเอียดเพิ่มเติมสามารถดูได้ที่ www.cm_grandsale.com

ตัวแทนชมรมครูอาวุโสฯ มอบช่อดอกไม้ร่วมแสดงความยินดีกับคุณณรงค์ คองประเสริฐ

141 (งานประสานสัมพันธ์ศิษย์เก่าและครูอาวุโส /- ) 10/03/2009 [15:31:06] [68]

ตัวแทนชมรมครูอาวุโสฯ มอบช่อดอกไม้ร่วมแสดงความยินดีกับคุณณรงค์ คองประเสริฐ

เมื่อวันอังคารที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2552 ตัวแทนชมรมครูอาวุโสโรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย ได้แก่ มาสเตอร์มานพ พิสุทธิพันธ์พงศ์ ประธานชมรมครูอาวุโสฯ และมาสเตอร์โกวิท นำลาภ รองประธานกรรมการชมรมครูอาวุโสฯ มอบช่อดอกไม้ร่วมแสดงความยินดีกับคุณณรงค์ คองประเสริฐ ที่ได้รับการแต่งตั้งขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่

Resource:http://www.montfort.ac.th/applications/address/viewNewsDetail.php?sid=141

พันธกิจ นโยบาย และแผนการดำเนินงาน หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่



พันธกิจ นโยบาย และแผนการดำเนินงาน
หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ สมัยที่ 17
ประจำปี 2552-2553
.
หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ในฐานะที่เป็นองค์กรตัวแทนของภาคเอกชนทางธุรกิจ และเป็นสถาบันที่ได้รับการยอมรับในจังหวัดเชียงใหม่ ตลอดระยะเวลา 32 ปี ที่ผ่านมา หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ได้ทำหน้าที่ และดำรงบทบาทส่งเสริมการดำเนินธุรกิจของสมาชิก ตลอดจนสนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ของจังหวัดมาอย่างต่อเนื่องอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งในด้านการมีบทบาทในนโยบายสาธารณะ และการจัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยมีคณะกรรมการบริหารสานต่อเจตนารมย์ของผู้ร่วมก่อตั้งมาถึง 17 สมัย ซึ่งปัจจุบันองค์กรหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ได้เติบโต และพัฒนาการทั้งในด้านองค์กร และบุคลากร เพื่อตอบสนองความต้องการของสมาชิก และสังคมของจังหวัดเชียงใหม่อย่างเข้มแข็ง
.
อย่างไรก็ตาม หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ไม่ได้หยุดนิ่ง แต่จะพัฒนาและก้าวไปสู่อนาคตที่ยั่งยืน ทั้งนี้ การดำเนินงานของหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ในระยะ 2 ปี จึงจะมุ่งเน้นใน 5 พันธกิจหลัก คือ
.
1. เสริมสร้างหอการค้าฯ ให้เข้มแข็ง โดยการพัฒนาศักยภาพของบุคลากร ทั้งในส่วนที่เป็นกรรมการและเจ้าหน้าที่ โดยใช้หลักการทำงานที่มุ่งสู่เป้าหมายตามวิสัยทัศน์- พันธกิจ โดยพัฒนากระบวนการทำงานที่ชัดเจน มีการสื่อสารที่ดี ตลอดจนสร้างบรรยากาศของความร่วมมือภายในองค์กร โดยมุ่งเน้นการทำโครงการที่สอดคล้องทั้งพันธกิจ มิติทางการเงิน และ การพัฒนาเครือข่าย
.
2. ร่วมแรงฟื้นฟูเศรษฐกิจ ในสถานการณ์เศรษฐกิจที่ถดถอยและอยู่ในภาวะวิกฤติในปัจจุบัน การกระตุ้นเศรษฐกิจ และความเชื่อมั่นของนักธุรกิจ เป็นภารกิจแร่งด่วน ที่หอการค้าฯ ให้ความสำคัญ โดยจะเน้นการนำเสนอ ประเด็นยุทธศาสตร์ และโครงการที่แก้ไขปัญหาเชิงรูปธรรมได้ให้แก่ภาครัฐฯ พร้อมกับขยายโอกาสการเข้าถึงความช่วยเหลือภาครัฐ โดยให้ครอบคลุมภาคเศรษฐกิจที่เป็นหัวใจของจังหวัด ได้แก่ด้านการท่องเที่ยว การเกษตร ธุรกิจบริการสุขภาพ และ การค้าการลงทุน นอกจากนี้ หอการค้าฯ ยังจะได้ผลักดันโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐฯ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจในจังหวัดเชียงใหม่ และ กลุ่มจังหวัดในภาคเหนือตอนบน ในระยะยาว ได้แก่การลงทุนก่อสร้างศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ และการพัฒนาการขนส่งระบบราง ตลอดจนการพัฒนาระบบการจัดการด้าน Logistic เพื่อให้สามารถรแข่งขันในตลาดระหว่างประเทศได้
.
3. สนับสนุนมวลหมู่สมาชิก การสนับสนุนสมาชิกเป็นเป้าประสงค์หลักของหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ ดังนั้นยุทธศาสตร์และโครงการของหอการค้าฯ จะต้องสอดคล้องกับความต้องการของสมาชิกในภาพรวม หอการค้าฯ จะสนับสนุนให้สมาชิกผนึกกำลังเป็นเครือข่ายความร่วมมือ (Cluster) ของภาคธุรกิจในจังหวัด ตลอดจนสนับสนุนสมาชิกในการพัฒนาขีดความสามารถ โดยการจัดการอบรม สัมมนาให้ความรู้ ทั้งในด้านการผลิต การบริหารจัดการ การเงิน และใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการบริหารจัดการ
.
4. ร่วมมือองค์กรพันธมิตร หอการค้าฯ ตระหนักดีว่า การดำเนินการตามพันธกิจต่างๆ ไม่อาจสำเร็จได้โดยองค์กรหอการค้าฯ เพียงลำพัง จำเป็นจะต้องได้รับความร่วมมือจากองค์กรพันธมิตร ใน 3 ภาคส่วนได้แก่ ภาครัฐ ภาคสถาบันการศึกษา และภาคเอกชน ที่จะทำงานประสานกันเป็นเอกภาพในการดำเนินโครงการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยในภาครัฐฯนั้น หอการค้าฯ จะเป็นเหมือนที่ปรึกษา ที่คอยชี้แนะ และสนับสนุนการทำงานร่วมกันในการฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด ในภาคการศึกษา หอการค้าฯให้ความร่วมมือในการแจ้งความต้องการในการใช้บุคคลากรของภาคธุรกิจ และสำหรับพันธมิตรภาคเอกชน หอการค้าฯจะให้ความร่วมมือสนับสนุนกิจกรรมที่เป็นประโยชน์และสอดคล้องกับพันธกิจร่วมกัน
.
5. ประสานแนวคิด เชียงใหม่นครแห่งชีวิตและความมั่งคั่ง (City of Life and Prosperity) เพื่อให้เชียงใหม่เป็นเมืองที่ให้ความสุข งดงามด้วยวัฒนธรรมล้านนา และมีสิ่งแวดล้อมที่ดี สร้างชีวิตที่มีคุณค่าแก่ผู้อยู่อาศัย และผู้มาเยือน ในฐานะเมืองที่น่าอยู่ และน่าท่องเที่ยวในระดับเอเชีย พร้อมกับเป็นประตูการค้าการลงทุนสู่สากล โดย คณะกรรมการหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ สมัยที่ 17 ประจำปี 2552-2553 จึงได้กำหนดวิสัยทัศน์ร่วมกันว่า “หอการค้าฯ มุ่งมั่นสู่ความเป็นองค์กรภาคเอกชนที่เข้มแข็ง” โดยมีนโยบายที่ได้กำหนดไว้ 5 ด้าน ดังนี้
.

นโยบายที่ 1 เสริมสร้างหอการค้าฯให้เข้มแข็ง มุ่งเน้นพัฒนาศักยภาพของบุคลากร มีผลงานที่ชัดเจน มีความเข้มแข็งทางการเงิน ด้วยความมุ่งมั่นและการมีส่วนร่วม เพื่อตอบสนองความต้องการของสมาชิกและสังคม


โดยมุ่งมั่นสู่องค์กรภาคเอกชนที่เข้มแข็ง


แนวทาง และแผนการดำเนินงาน


1.การสร้างความเข้มแข็งของบุคลากรของหอการค้าในทุกระดับ อันได้แก่

• คณะกรรมการ โดยการสร้างบรรยากาศการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด พร้อมกับสรรหาและอบรมคณะกรรมการรุ่นใหม่ที่จะเป็นกำลังสำคัญในอนาคต

• การเชิญที่ปรึกษา – บุคลากรที่มีศักยภาพขององค์กรมาร่วมสนับสนุนการทำงานของหอการค้าฯ

• เจ้าหน้าที่หอการค้าฯ มีการจัดโครงสร้างบุคลากรที่เหมาะสมกับปริมาณงาน ทั้งด้านงานประจำ และงานโครงการ , การจัดสวัสดิการที่เหมาะสม และการสรรหาอุปกรณ์ –เครื่องมือที่ทันสมัยมาอำนวยความสะดวกในการทำงาน


2. การยึดหลักการบริหารจัดการที่มุ่งเน้นผลงานที่ชัดเจน โดยมีการวิเคราะห์โครงการให้สอดคล้องกับพันธกิจ-ยุทธศาสตร์ของหอการค้าฯ รวมถึงแผนงบประมาณ/บุคลากร ซึ่งจะมีการกระจายงานความความสามารถ ความพร้อม และการจัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจ (Dream Team) พร้อมกับการเผยแพร่บทบาท และผลงานของหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ออกสู่สาธารณชนมากขึ้น โดยการพัฒนาช่องทางการประชาสัมพันธ์ของหอการค้า พร้อมกับแสวงหาช่องทางในการประชาสัมพันธ์รูปแบบใหม่ๆ


3. สร้างความแข็งแกร่งทางการเงินให้แก่หอการค้า โดยการดำเนินกิจกรรมที่สร้างรายได้ให้หอการค้าฯ เป็นประจำทุกปี และดำเนินกิจกรรมที่ไม่เป็นภาระทางการเงินกับหอการค้าฯ นอกจากนั้นจะได้แสวงหาช่องทางความร่วมมือ – ดำเนินโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงาน องค์กรทั้งใน และต่างประเทศ


4. ปรับปรุงกระบวนการบริหาร-จัดการ โดยเน้นคุณภาพ - มาตรฐานในการให้บริการแก่สมาชิก และสังคม เพื่อให้ได้รับการยอมรับในการเป็นองค์กรภาคเอกชนที่ยอดเยี่ยม


5. ปรับองค์กรให้เป็นศูนย์ข้อมูลทางเศรษฐกิจ เพื่อทำหน้าที่ชี้ทิศทาง และให้คำปรึกษาแก่สมาชิก


นโยบายที่ 2 ร่วมแรงพัฒนาและฟื้นฟูเศรษฐกิจ เน้นแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจเชิงรูปธรรม สร้างความแข็งแกร่งภาคเอกชนที่มีศักยภาพ ชูการกระตุ้นเศรษฐกิจในจังหวัดและผลักดันลงทุนภาครัฐที่กระตุ้นเศรษฐกิจภาพรวม และการมุ่งหาตลาดใหม่ทั้งในและต่างประเทศ


แนวทางและแผนการดำเนินงาน

1. ร่วมกำหนดยุทธศาสตร์และมาตรการในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของจังหวัดและส่วนรวมในทุกเวที ทั้งทางด้าน การท่องเที่ยว, เกษตร – เกษตรอุตสาหรรม ,ระบบโลจิสติกส์ อันเป็นพื้นฐานเศรษฐกิจที่สำคัญของจังหวัด

2. การเป็นเจ้าภาพหลักในการผลักดันยุทธศาสตร์ Logistic ของจังหวัดโดยมีเป้าหมายให้เกิดโครงการบริหารจัดการระบบ Logistic เชียงใหม่(Chiang Mai Logistic Housing Bureau) หรือ โลจิสติกส์พาร์คในอนาคต โดยผ่านโครงการด้านการพัฒนาบรรจุหีบห่อ ,การสร้างเครือข่าย,ฐานข้อมูล และการพัฒนาบุคลากร

3. การจัดโครงการที่ส่งเสริมการค้า การลงทุนของจังหวัด ได้แก่ โครงการจัดงานขับเคลื่อนพลังเศรษฐกิจจังหวัดเชียงใหม่ หรือ GMS Expo และการจัด Roadshow ไปยังประเทศกลุ่มเป้าหมายหรือเป็นเมืองพี่เมืองน้องของจังหวัดเชียงใหม่ รวมถึงหอการค้าคู่มิตร เช่น หอการค้าฯ ลียง ประเทศฝรั่งเศส, หอการค้า และสภาอุตสาหกรรมมณฑลยูนนาน, กว่างซี, เสฉวน ของจีน เป็นต้น และผลักดันศูนย์กระจายสินค้าที่นครคุนหมิงให้เป็นรูปธรรม

4. การเสริมสร้างความแข็งแกร่งแก่ภาคธุรกิจการท่องเที่ยวที่เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจังหวัด โดยการนำเสนอโครงการที่จะสนับสนุนผู้ประกอบการ เช่น โครงการกระตุ้นการตลาดการท่องเที่ยวกลุ่มจังหวัด, โครงการพัฒนาการตลาดและการท่องเที่ยวแบบระยะยาว (Long Stay), การจัดทำโครงการเชียงใหม่ Grand Sale, โครงการจัดประชุมหอการค้าทั่วประเทศ เป็นต้น

5. การส่งเสริมผลักดันให้มีการจับคู่ทางธุรกิจ (Business Matching) ผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ

6. การผลักดันการลงทุนภาครัฐที่มีประโยชน์ต่อเศรษฐกิจในภาพรวม เช่น โครงการศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ , โครงการรถไฟรางคู่ – ความเร็วปานกลาง, โครงการ Logistics Park ,โครงการขนส่งมวลชนภายในตัวเมืองเชียงใหม่ เป็นต้น

7. การขยายโอกาสการเข้าถึงความช่วยเหลือภาครัฐที่เร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ และแก้ไขปัญหาของผู้ประกอบการภาคธุรกิจ เช่น โครงการมหกรรมเงินทุนกระตุ้นเศรษฐกิจ, โครงการ Business Clinic, โครงการแก้ไขปัญหาแรงงาน เป็นต้น

8. การมีส่วนร่วมในการพัฒนาศูนย์บริการข้อมูลด้านการค้าการลงทุนของจังหวัดเชียงใหม่ หรือ (Trade Investment Service Center) ของเชียงใหม่ที่ได้ก่อตั้งขึ้นแล้วให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการนำมาใช้ในภาคธุรกิจ และก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มในทางการค้า – การลงทุนของจังหวัดเชียงใหม่ในภาพรวมระยะยาว

9. การพัฒนาขีดความรู้ความสามารถของผู้ประกอบการในจังหวัดเชียงใหม่ให้เกิดความรู้ใหม่ในสาขาที่ครอบคลุมและผู้ประกอบการมีความต้องการ

10. การจัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจของหอการค้า เพื่อศึกษาและทำงานร่วมกับภาครัฐ


นโยบายที่ 3 สนับสนุนมวลหมู่สมาชิก ให้ผนึกกำลังเป็นเครือข่ายความร่วมมือ (Cluster) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของสมาชิกหอการค้า และผู้ประกอบธุรกิจในจังหวัดเชียงใหม่ ให้มีความเข้มแข็ง สามารถยืนหยัดและแข่งขันได้ ทั้งในระดับภูมิภาค ระดับประเทศ ระหว่างประเทศ


แนวทางและแผนการดำเนินงาน

1. การรณรงค์เพิ่มสมาชิกของหอการค้าในครบในทุกวิสาหกิจ และในทุกอำเภอ เพื่อการดำรงบทบาทเป็นตัวแทนของวิสาหกิจในทุกประเภท โดยจะรักษาฐานสมาชิกเก่า และการสรรหาสมาชิกใหม่ไปแบบคู่ขนานโดยมีกิจกรรมที่สำคัญ เช่น
• การจัดงานสังสรรค์
• การจัดโครงการทัศนศึกษาดูงานในต่างประเทศ
• การให้ความสำคัญการสื่อสารประชาสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดทั้งด้าน เว็บไซต์, วารสาร, จดหมายข่าว, รายการวิทยุ และจดหมายอิเล็คทรอนิกส์

2. จัดโครงการฝึกอบรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของสมาชิก ที่ตรงกับความต้องการ โดยหอการค้าฯ จะเชื่อมโยงกับองค์กรที่มีองค์ความรู้ เช่น โครงการด้านนวตกรรม ของเครือข่ายนวัตกรรม, โครงการพัฒนาเทคโนโลยีและสารสนเทศ, การพัฒนาด้านบริการ-จัดการ, การพัฒนาด้านการผลิต , การพัฒนาบรรจุภัณฑ์สำหรับโลจิสติกส์ , และการให้ความรู้ด้านภาษีและการบัญชี ภายใต้โครงการ Tax up to Date เป็นต้น

3. การจัดโครงการผู้ประกอบการยอดเยี่ยมแต่ละสาขาในจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเป็นการกระตุ้น การพัฒนาธุรกิจ การบริการให้ได้มาตรฐานและเป็นแบบอย่างที่ดีทางธุรกิจของจังหวัดต่อไป

4. เป็นองค์กรผู้ประสานงานในการขยายเครือข่ายความร่วมมือของสมาชิก-ผู้ประกอบการ

5. สร้างโอกาส และรายได้ใหม่ให้แก่สมาชิก โดยใช้นวัตกรรม (Innovation) เช่น โครงการเครือข่ายนวัตกรรมของหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่

6. โครงการจัดฐานข้อมูลสมาชิกให้เป็นระบบ ปรับปรุงข้อมูลสมาชิก – วิสาหกิจ และรวบรวมข้อมูลในเชิงลึกในธุรกิจแต่ละสาขา เพื่อประโยชน์ในการนำไปใช้ในการวางแผน และกำหนดยุทธศาสตร์ของธุรกิจ เพื่อการแข่งขัน

7. สร้างจิตสำนึก ด้านจรรยาบรรณทางธุรกิจ และความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร (CSR :Corporate Social Responsibility)


นโยบายที่ 4 ร่วมมือองค์กรพันธมิตร ทั้งภาครัฐ ภาคสถาบันการศึกษา และภาคเอกชน ที่จะทำงานประสานกันเป็นเอกภาพในการดำเนินโครงการพัฒนาเศรษฐกิจ ในลักษณะร่วมคิด ร่วมงานและร่วมใจ


แนวทางและแผนการดำเนินงาน

1. ร่วมกำหนดแนวทางการพัฒนา และดำเนินโครงการ-กิจกรรมที่เกี่ยวกับการพัฒนาภาคเศรษฐกิจของจังหวัดกับภาครัฐ ภาคการศึกษา และองค์กรเอกชนในทุก ๆ ระดับ ทั้งในระดับจังหวัด ภูมิภาค และระดับประเทศ ในลักษณะร่วมคิด ร่วมงานและร่วมใจ เช่น โครงการพัฒนาฝีมือแรงงาน และบุคลากรที่ตรงกับความต้องการของตลาด เป็นต้น

2. กระชับความสัมพันธ์และการทำงานร่วมกันของคณะกรรมการร่วม

3 สถาบัน (กกร.)3. สนับสนุนโครงการ/ กิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับ SMEs ผ่านหน่วยงานบริการเครือข่ายวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมภาคเหนือ (Northern Network Service Provider for Small and Medium Enterprises : NNSPSME)

4. สานต่อ และสนับสนุนการเป็นหอการค้าคู่มิตรกับหอการค้าทั้งใน และต่างประเทศ เพื่อเป็นการขยายความ ร่วมมือทางการค้าในระดับจังหวัด และในระดับประเทศ

5. สร้างความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับสื่อมวลชน โดยพัฒนาแนวทางการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารกับสื่อมวลชนที่ทันสมัย-และเป็นข้อมูลที่ได้รับความเชื่อมั่น – เชื่อถือได้


นโยบายที่ 5 ประสานแนวคิด เชียงใหม่นครแห่งชีวิตและความมั่งคั่ง (City of Life and Prosperity) เพื่อให้เชียงใหม่เป็นเมืองแห่งวัฒนธรรมและมีสิ่งแวดล้อมที่ดี ให้ความสุขและชีวิตที่มีคุณค่าแก่ ผู้อยู่อาศัย และผู้มาเยือน ในฐานะเมืองที่น่าอยู่ และน่าท่องเที่ยวในระดับเอเชีย พร้อมกับเป็นประตูการค้าการลงทุนสู่สากล


แนวทางและแผนการดำเนินงาน

1. ผลักดันยุทธศาสตร์ให้ เชียงใหม่เป็นนครแห่งชีวิตและความมั่งคั่ง (City of Life and Prosperity) ผ่านแผนงานพัฒนาจังหวัดเชียงใหม่ในระยะ 4 ปี (2553-2556)

2. มุ่งเน้นความสำคัญในการพัฒนาผังเมืองจังหวัดเชียงใหม่ให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงและความต้องการของประชาชนชาวเชียงใหม่ และไม่สร้างผลกระทบต่อภาคธุรกิจส่วนรวมในอนาคต

3. การรักษาประเพณี วัฒนธรรมที่เป็นเสน่ห์ และมูลค่าเพิ่มของจังหวัดเชียงใหม่ เช่น โครงการพิธีดำหัวปี๋ใหม่เมืองของภาคเอกชน การร่วมอนุรักษ์การแต่งกายผ้าเมือง เป็นต้น

4. การร่วมรักษาและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ที่เกิดขึ้นจังหวัดเชียงใหม่ เช่น ปัญหาหมอกควันในช่วงฤดูแล้ง, ปัญหาภูมิทัศน์ของเมือง เป็นต้น

5. การเป็นเจ้าภาพหลักในยุทธศาสตร์เศรษฐกิจ เช่น พัฒนาในเรื่องพลังงาน โลจิสติกส์ ค้าส่ง – ค้าปลีก และการเพิ่มผลผลิต

6. การเพิ่มขีดความสามารถด้านการค้าชายแดน และการค้าอนุภูมิภาคในเขตภาคเหนือตอนบน

Resource:http://www.chiangmaichamber.com/?name=news&file=readnews&id=97

วันพุธที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2552

เริ่มเปิดจุดผ่อนปรนเพื่อการค้าชายแดนไทยพม่ากิ่วผาวอกตั้งแต่ 31 ม.ค.51 เป็นต้นไป


เริ่มเปิดจุดผ่อนปรนเพื่อการค้าชายแดนไทยพม่ากิ่วผาวอกตั้งแต่ 31 ม.ค.51 เป็นต้นไป

ศูนย์สั่งการชายแดนไทย-พม่า เห็นชอบให้เปิดจุดผ่อนปรนชายแดนชั่วคราวกิ่วผาวอก อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่ 31 ม.ค. 51 เป็นต้นไปทุกวันพฤหัสบดี ศุกร์และเสาร์ สัปดาห์ละ 3 วัน
.
นายชุมพร แสงมณี ปลัดจังหวัดเชียงใหม่ ในฐานะคณะทำงานกลุ่มภารกิจด้านความมั่นคงของจังหวัดเชียงใหม่แจ้งว่า ขณะนี้ศูนย์สั่งการชายแดนไทย-พม่า ได้อนุมัติให้มีการเปิดจุดผ่อนปรนชายแดนไทย-พม่า ชั่วคราวกิ่วผาวอก หมู่ 10 บ้านอรุโณทัย ตำบลเมืองนะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่วันพฤหัสบดีที่ 31 มกราคม 2551 เป็นต้นไป โดยเปิดสัปดาห์ละ 3 วันคือ พฤหัสบดี ศุกร์ และเสาร์ ระหว่างเวลา 06.00 – 18.00 น. เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของราษฎร และส่งเสริมเศรษฐกิจด้านการค้าชายแดนไทย-พม่า
.
สำหรับเงื่อนไขการดำเนินการและการซื้อขายนั้นได้กำหนดว่า สินค้าทั่วไปซื้อขายได้ไม่เกินวันละ 500,000 บาท ยกเว้นนิติบุคคลซื้อขายได้ไม่จำกัด พื้นที่ซื้อขายประมาณ 200 ไร่ อยู่ในฝั่งไทยห่างจากเขตชายแดนไม่เกิน 200 เมตร ห้ามชาวพม่าเข้ามาเกินหลักเขตพื้นที่นั้น โดยมีหน่วยงานต่าง ๆ รับผิดชอบดูแลได้แก่ ด่านตรวจคนเข้าเมืองเชียงใหม่ทำหน้าที่ควบคุมบุคคลและยานพาหนะเข้าออก ด่านศุลกากร อ.เชียงดาว รับผิดชอบดูแลรถขนถ่ายสินค้า กำลังตำรวจและอาสาสมัครของอำเภอเชียงดาว ทำหน้าที่ควบคุมไม่ให้มีการออกนอกพื้นที่เพื่อป้องกันการหลบหนีเข้าเมือง
.
สำหรับจุดผ่อนปรนชายแดนไทย-พม่ากิ่วผาวอก เดิมได้เปิดให้มีการซื้อขายสินค้าเพื่อเชื่อมโยงเศรษฐกิจระหว่างไทยกับพม่า แต่ได้ปิดไปตั้งแต่ปี 2544 เมื่อครั้งเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในพม่า ซึ่งขณะนี้หลายฝ่ายเห็นว่าเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ประกอบกับได้รับการร้องขอจากนักธุรกิจและประชาชนในพื้นที่ ศูนย์สั่งการชายแดนไทย-พม่า พิจารณาแล้วจึงได้อนุญาตให้เปิดได้ ทั้งนี้มีการคาดการณ์ว่าจะมีเงินหมุนเวียนซื้อขายบริเวณดังกล่าวเดือนละกว่า 50 ล้านบาท โดยสินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปยังพม่าคือสินค้าอุปโภค บริโภค ขณะที่สินค้านำเข้าจากพม่าคือโค กระบือและสินค้าเกษตร

.
30 มกราคม 2551 , 17:02 น.
ข่าวโดย พยนต์ ยศสุพรหม สวท. เชียงใหม่

พม่ายังไม่เปิดจุดผ่อนปรนชายแดนกิ่วผาวอกในวันแร



พม่ายังไม่เปิดจุดผ่อนปรนชายแดนกิ่วผาวอกในวันแรก

พ่อค้า แม่ค้าชาวไทยกว่าร้อยรายต้องผิดหวังเมื่อพม่าไม่ยอมเปิดประตูให้ทำการซื้อขายที่จุดผ่อนปรนชายแดนชั่วคราวกิ่วผาวอกในวันแรกของกำหนดเปิด โดยอ้างรอคำสั่งจากหน่วยเหนือวันแรกของการกำหนดเปิดจุดผ่อนปรนทางการค้าชายแดนชั่วคราว กิ่วผาวอก บ้านอรุโณทัย ตำบลเมืองนะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ปรากฏว่าบรรดาพ่อค้าแม่ค้าชาวไทยกว่าร้อยรายที่นำสินค้าไปจำหน่ายต้องพบกับความผิดหวัง เมื่อทางการพม่าไม่ยอมเปิดประตูให้ประชาชนชาวพม่ามาซื้อสินค้าไทย โดยอ้างรอคำสั่งจากหน่วยเหนือ โดยกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าชาวไทยต่างกล่าวอย่างมีความหวังว่าคงจะมีการเปิดด่านในไม่ช้า ขณะที่ฝั่งไทยนั้นได้เตรียมพร้อมทุกด้านสำหรับการเปิดด่าน มีการทำสถานที่กักสัตว์ หน่วยงานศุลกากร สาธารณสุข และองค์กรในพื้นที่ต่างเตรียมพร้อมทั้งตำรวจและทหาร แต่ฝั่งพม่ายังคงปิดประตูไม่มีความเคลื่อนไหวใดๆ ขณะที่ได้มีฝนตกอย่างหนัก
นายวิชิต บุญกังวาน นายอำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ทางการพม่าคงจะรอดูท่าทีของไทยและปรึกษาหารือก่อนจะพิจารณาเปิดด่าน ทั้งนี้ไทยได้แจ้งในที่ประชุมคณะกรรมการร่วมท้องถิ่นไทย-พม่าเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาว่าไทยจะเปิดด่านวันนี้เป็นต้นไปโดยไทยก็จะเปิดด่านรอจนกว่าพม่าจะเปิดด่านเพื่อการไป-มาหาสู่ระหว่างประชาชนสองประเทศ
สำหรับจุดผ่อนปรนชายแดนชั่วคราวกิ่วผาวอกนั้นปิดตั้งแต่ปี 2545 เนื่องจากปัญหาความไม่สงบภายในของพม่าเอง โดยก่อนปิดด่านมีมูลค่าการซื้อขายถึงปีละกว่า 300 ล้านบาท เฉลี่ยเดือนละกว่า 30 ล้านบาท สินค้าไทยที่นำไปขายให้พม่าคือสินค้าอุปโภค-บริโภค วัสดุก่อสร้าง น้ำมันเชื้อเพลิง และพืชผลทางการเกษตร ขณะที่พม่านั้นจะมีสินค้าหลักคือ โค กระบือ และของป่า ไทยได้เปรียบดุลการค้าพม่าที่จุดผ่อนปรนกิ่วผาวอกนี้ ขณะที่ราษฎรของพม่าหลายเมืองต้องการซื้อของที่จุดนี้เนื่องจากอยู่ไกลจากด่านแม่สายซึ่งต้องใช้เวลาเดินทาง 2-3 วันเพื่อไปซื้อสินค้า
ข่าวโดย : ธนวันต์ ชุมแสง สวท.เชียงใหม่
หน่วยงาน : สวท.เชียงใหม่



ข่าว : สำนักประชาสัมพันธ์เขต 3 เชียงใหม่
1 กุมภาพันธ์ 2551 / 16:25:38

ไทยเปิดด่านกิ่วผาวอก-เชียงดาวกระตุ้นเศรษฐกิจชายแดนสองประเทศ

ไทยเปิดด่านกิ่วผาวอก-เชียงดาวกระตุ้นเศรษฐกิจชายแดนสองประเทศ

แนวหน้า
2008-02-02 00:00:00

เชียงราย
:นายวิชิต บุญกังวัน นายอำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ พ.อ.สมเกียรติ มาลกร รอง.ผู้บังคับการกรมทหารม้าที่ 2 กองกำลังผาเมือง เป็นประธานร่วมกันเปิดด่านกิ่วผาวอก ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ อย่างเป็นทางการ โดยมีตำรวจตรวจคนเข้าเมือง กรมศุลกากร ตำรวจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการเปิดด่านครั้งนี้จำนวนมาก
.
นอกจากนี้ยังพ่อค้าแม่ค้าที่เตรียมนำของไปจำหน่ายจุดเปิดด่าน โดยมากันตั้งแต่เช้ามืดเพื่อรอประชาชนชาวพม่าเดินทางมาซื้อของจากไทย แต่ขณะที่ฝ่ายพม่ายังเงียบเหงามีเพียงเจ้าหน้าที่ทหารเดินสังเกตการณ์ ในฐานทหารในฝังพม่าเพียงไม่กี่คน
.
นายวิชิต บุญกังวัน กล่าวว่า ด่านกิ่วผาวอก ทั้งสองประเทศสั่งปิดด่านเมื่อมี 2546 เนื่องจากมีปัญหาหลายด้าน ส่วนพม่าเองก็ประสบปัญหาทางการเมืองของเขาในตอนนั้น แต่ขณะนี้ฝั่งไทยพร้อมที่จะเปิดให้ประชาชนทั้งสองประเทศ มีการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้ากันเช่นเดิม โดยจะเปิดอาทิตย์ละ 3 วันคือ วันพฤหัสบดี ศุกร์ และเสาร์ เริ่มตั้งแต่เวลา 06.00 น.- 18.00 น.
.
ส่วนปัญหาที่ไทยเกรงว่าจะพบเหมือนเช่นในอดีตที่ผ่านมาเมื่อเปิดด่านแล้ว คือปัญหาการลักลอกเข้าเมือง และปัญหาการลำเลียงยาเสพติด ส่วนการค้าขายของทั้งสองประเทศเราก็สนับสนุนให้มีการค้าอย่างปกติสุข สำหรับมูลค้าทางการค้าเมื่อในอดีตที่ผ่านมา ไทยได้ส่งสินค้าออกปีละ 300 ล้านบาท และนำเข้าปีละ 100 ล้านบาท

Resource:http://vivaldi.cpe.ku.ac.th/~note/newscrawler/view_news.php?id=377428