พันธกิจ นโยบาย และแผนการดำเนินงาน
หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ สมัยที่ 17
ประจำปี 2552-2553
.
หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ในฐานะที่เป็นองค์กรตัวแทนของภาคเอกชนทางธุรกิจ และเป็นสถาบันที่ได้รับการยอมรับในจังหวัดเชียงใหม่ ตลอดระยะเวลา 32 ปี ที่ผ่านมา หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ได้ทำหน้าที่ และดำรงบทบาทส่งเสริมการดำเนินธุรกิจของสมาชิก ตลอดจนสนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ของจังหวัดมาอย่างต่อเนื่องอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งในด้านการมีบทบาทในนโยบายสาธารณะ และการจัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยมีคณะกรรมการบริหารสานต่อเจตนารมย์ของผู้ร่วมก่อตั้งมาถึง 17 สมัย ซึ่งปัจจุบันองค์กรหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ได้เติบโต และพัฒนาการทั้งในด้านองค์กร และบุคลากร เพื่อตอบสนองความต้องการของสมาชิก และสังคมของจังหวัดเชียงใหม่อย่างเข้มแข็ง
.
อย่างไรก็ตาม หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ไม่ได้หยุดนิ่ง แต่จะพัฒนาและก้าวไปสู่อนาคตที่ยั่งยืน ทั้งนี้ การดำเนินงานของหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ในระยะ 2 ปี จึงจะมุ่งเน้นใน 5 พันธกิจหลัก คือ
.
1. เสริมสร้างหอการค้าฯ ให้เข้มแข็ง โดยการพัฒนาศักยภาพของบุคลากร ทั้งในส่วนที่เป็นกรรมการและเจ้าหน้าที่ โดยใช้หลักการทำงานที่มุ่งสู่เป้าหมายตามวิสัยทัศน์- พันธกิจ โดยพัฒนากระบวนการทำงานที่ชัดเจน มีการสื่อสารที่ดี ตลอดจนสร้างบรรยากาศของความร่วมมือภายในองค์กร โดยมุ่งเน้นการทำโครงการที่สอดคล้องทั้งพันธกิจ มิติทางการเงิน และ การพัฒนาเครือข่าย
.
2. ร่วมแรงฟื้นฟูเศรษฐกิจ ในสถานการณ์เศรษฐกิจที่ถดถอยและอยู่ในภาวะวิกฤติในปัจจุบัน การกระตุ้นเศรษฐกิจ และความเชื่อมั่นของนักธุรกิจ เป็นภารกิจแร่งด่วน ที่หอการค้าฯ ให้ความสำคัญ โดยจะเน้นการนำเสนอ ประเด็นยุทธศาสตร์ และโครงการที่แก้ไขปัญหาเชิงรูปธรรมได้ให้แก่ภาครัฐฯ พร้อมกับขยายโอกาสการเข้าถึงความช่วยเหลือภาครัฐ โดยให้ครอบคลุมภาคเศรษฐกิจที่เป็นหัวใจของจังหวัด ได้แก่ด้านการท่องเที่ยว การเกษตร ธุรกิจบริการสุขภาพ และ การค้าการลงทุน นอกจากนี้ หอการค้าฯ ยังจะได้ผลักดันโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐฯ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจในจังหวัดเชียงใหม่ และ กลุ่มจังหวัดในภาคเหนือตอนบน ในระยะยาว ได้แก่การลงทุนก่อสร้างศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ และการพัฒนาการขนส่งระบบราง ตลอดจนการพัฒนาระบบการจัดการด้าน Logistic เพื่อให้สามารถรแข่งขันในตลาดระหว่างประเทศได้
.
3. สนับสนุนมวลหมู่สมาชิก การสนับสนุนสมาชิกเป็นเป้าประสงค์หลักของหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ ดังนั้นยุทธศาสตร์และโครงการของหอการค้าฯ จะต้องสอดคล้องกับความต้องการของสมาชิกในภาพรวม หอการค้าฯ จะสนับสนุนให้สมาชิกผนึกกำลังเป็นเครือข่ายความร่วมมือ (Cluster) ของภาคธุรกิจในจังหวัด ตลอดจนสนับสนุนสมาชิกในการพัฒนาขีดความสามารถ โดยการจัดการอบรม สัมมนาให้ความรู้ ทั้งในด้านการผลิต การบริหารจัดการ การเงิน และใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการบริหารจัดการ
.
.
4. ร่วมมือองค์กรพันธมิตร หอการค้าฯ ตระหนักดีว่า การดำเนินการตามพันธกิจต่างๆ ไม่อาจสำเร็จได้โดยองค์กรหอการค้าฯ เพียงลำพัง จำเป็นจะต้องได้รับความร่วมมือจากองค์กรพันธมิตร ใน 3 ภาคส่วนได้แก่ ภาครัฐ ภาคสถาบันการศึกษา และภาคเอกชน ที่จะทำงานประสานกันเป็นเอกภาพในการดำเนินโครงการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยในภาครัฐฯนั้น หอการค้าฯ จะเป็นเหมือนที่ปรึกษา ที่คอยชี้แนะ และสนับสนุนการทำงานร่วมกันในการฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด ในภาคการศึกษา หอการค้าฯให้ความร่วมมือในการแจ้งความต้องการในการใช้บุคคลากรของภาคธุรกิจ และสำหรับพันธมิตรภาคเอกชน หอการค้าฯจะให้ความร่วมมือสนับสนุนกิจกรรมที่เป็นประโยชน์และสอดคล้องกับพันธกิจร่วมกัน
.
5. ประสานแนวคิด เชียงใหม่นครแห่งชีวิตและความมั่งคั่ง (City of Life and Prosperity) เพื่อให้เชียงใหม่เป็นเมืองที่ให้ความสุข งดงามด้วยวัฒนธรรมล้านนา และมีสิ่งแวดล้อมที่ดี สร้างชีวิตที่มีคุณค่าแก่ผู้อยู่อาศัย และผู้มาเยือน ในฐานะเมืองที่น่าอยู่ และน่าท่องเที่ยวในระดับเอเชีย พร้อมกับเป็นประตูการค้าการลงทุนสู่สากล โดย คณะกรรมการหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ สมัยที่ 17 ประจำปี 2552-2553 จึงได้กำหนดวิสัยทัศน์ร่วมกันว่า “หอการค้าฯ มุ่งมั่นสู่ความเป็นองค์กรภาคเอกชนที่เข้มแข็ง” โดยมีนโยบายที่ได้กำหนดไว้ 5 ด้าน ดังนี้
.นโยบายที่ 1 เสริมสร้างหอการค้าฯให้เข้มแข็ง มุ่งเน้นพัฒนาศักยภาพของบุคลากร มีผลงานที่ชัดเจน มีความเข้มแข็งทางการเงิน ด้วยความมุ่งมั่นและการมีส่วนร่วม เพื่อตอบสนองความต้องการของสมาชิกและสังคม
โดยมุ่งมั่นสู่องค์กรภาคเอกชนที่เข้มแข็ง
แนวทาง และแผนการดำเนินงาน
1.การสร้างความเข้มแข็งของบุคลากรของหอการค้าในทุกระดับ อันได้แก่
• คณะกรรมการ โดยการสร้างบรรยากาศการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด พร้อมกับสรรหาและอบรมคณะกรรมการรุ่นใหม่ที่จะเป็นกำลังสำคัญในอนาคต
• การเชิญที่ปรึกษา – บุคลากรที่มีศักยภาพขององค์กรมาร่วมสนับสนุนการทำงานของหอการค้าฯ
• เจ้าหน้าที่หอการค้าฯ มีการจัดโครงสร้างบุคลากรที่เหมาะสมกับปริมาณงาน ทั้งด้านงานประจำ และงานโครงการ , การจัดสวัสดิการที่เหมาะสม และการสรรหาอุปกรณ์ –เครื่องมือที่ทันสมัยมาอำนวยความสะดวกในการทำงาน
2. การยึดหลักการบริหารจัดการที่มุ่งเน้นผลงานที่ชัดเจน โดยมีการวิเคราะห์โครงการให้สอดคล้องกับพันธกิจ-ยุทธศาสตร์ของหอการค้าฯ รวมถึงแผนงบประมาณ/บุคลากร ซึ่งจะมีการกระจายงานความความสามารถ ความพร้อม และการจัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจ (Dream Team) พร้อมกับการเผยแพร่บทบาท และผลงานของหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ออกสู่สาธารณชนมากขึ้น โดยการพัฒนาช่องทางการประชาสัมพันธ์ของหอการค้า พร้อมกับแสวงหาช่องทางในการประชาสัมพันธ์รูปแบบใหม่ๆ
3. สร้างความแข็งแกร่งทางการเงินให้แก่หอการค้า โดยการดำเนินกิจกรรมที่สร้างรายได้ให้หอการค้าฯ เป็นประจำทุกปี และดำเนินกิจกรรมที่ไม่เป็นภาระทางการเงินกับหอการค้าฯ นอกจากนั้นจะได้แสวงหาช่องทางความร่วมมือ – ดำเนินโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงาน องค์กรทั้งใน และต่างประเทศ
4. ปรับปรุงกระบวนการบริหาร-จัดการ โดยเน้นคุณภาพ - มาตรฐานในการให้บริการแก่สมาชิก และสังคม เพื่อให้ได้รับการยอมรับในการเป็นองค์กรภาคเอกชนที่ยอดเยี่ยม
5. ปรับองค์กรให้เป็นศูนย์ข้อมูลทางเศรษฐกิจ เพื่อทำหน้าที่ชี้ทิศทาง และให้คำปรึกษาแก่สมาชิก
นโยบายที่ 2 ร่วมแรงพัฒนาและฟื้นฟูเศรษฐกิจ เน้นแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจเชิงรูปธรรม สร้างความแข็งแกร่งภาคเอกชนที่มีศักยภาพ ชูการกระตุ้นเศรษฐกิจในจังหวัดและผลักดันลงทุนภาครัฐที่กระตุ้นเศรษฐกิจภาพรวม และการมุ่งหาตลาดใหม่ทั้งในและต่างประเทศ
แนวทางและแผนการดำเนินงาน
1. ร่วมกำหนดยุทธศาสตร์และมาตรการในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของจังหวัดและส่วนรวมในทุกเวที ทั้งทางด้าน การท่องเที่ยว, เกษตร – เกษตรอุตสาหรรม ,ระบบโลจิสติกส์ อันเป็นพื้นฐานเศรษฐกิจที่สำคัญของจังหวัด
2. การเป็นเจ้าภาพหลักในการผลักดันยุทธศาสตร์ Logistic ของจังหวัดโดยมีเป้าหมายให้เกิดโครงการบริหารจัดการระบบ Logistic เชียงใหม่(Chiang Mai Logistic Housing Bureau) หรือ โลจิสติกส์พาร์คในอนาคต โดยผ่านโครงการด้านการพัฒนาบรรจุหีบห่อ ,การสร้างเครือข่าย,ฐานข้อมูล และการพัฒนาบุคลากร
3. การจัดโครงการที่ส่งเสริมการค้า การลงทุนของจังหวัด ได้แก่ โครงการจัดงานขับเคลื่อนพลังเศรษฐกิจจังหวัดเชียงใหม่ หรือ GMS Expo และการจัด Roadshow ไปยังประเทศกลุ่มเป้าหมายหรือเป็นเมืองพี่เมืองน้องของจังหวัดเชียงใหม่ รวมถึงหอการค้าคู่มิตร เช่น หอการค้าฯ ลียง ประเทศฝรั่งเศส, หอการค้า และสภาอุตสาหกรรมมณฑลยูนนาน, กว่างซี, เสฉวน ของจีน เป็นต้น และผลักดันศูนย์กระจายสินค้าที่นครคุนหมิงให้เป็นรูปธรรม
4. การเสริมสร้างความแข็งแกร่งแก่ภาคธุรกิจการท่องเที่ยวที่เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจังหวัด โดยการนำเสนอโครงการที่จะสนับสนุนผู้ประกอบการ เช่น โครงการกระตุ้นการตลาดการท่องเที่ยวกลุ่มจังหวัด, โครงการพัฒนาการตลาดและการท่องเที่ยวแบบระยะยาว (Long Stay), การจัดทำโครงการเชียงใหม่ Grand Sale, โครงการจัดประชุมหอการค้าทั่วประเทศ เป็นต้น
5. การส่งเสริมผลักดันให้มีการจับคู่ทางธุรกิจ (Business Matching) ผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ
6. การผลักดันการลงทุนภาครัฐที่มีประโยชน์ต่อเศรษฐกิจในภาพรวม เช่น โครงการศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ , โครงการรถไฟรางคู่ – ความเร็วปานกลาง, โครงการ Logistics Park ,โครงการขนส่งมวลชนภายในตัวเมืองเชียงใหม่ เป็นต้น
7. การขยายโอกาสการเข้าถึงความช่วยเหลือภาครัฐที่เร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ และแก้ไขปัญหาของผู้ประกอบการภาคธุรกิจ เช่น โครงการมหกรรมเงินทุนกระตุ้นเศรษฐกิจ, โครงการ Business Clinic, โครงการแก้ไขปัญหาแรงงาน เป็นต้น
8. การมีส่วนร่วมในการพัฒนาศูนย์บริการข้อมูลด้านการค้าการลงทุนของจังหวัดเชียงใหม่ หรือ (Trade Investment Service Center) ของเชียงใหม่ที่ได้ก่อตั้งขึ้นแล้วให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการนำมาใช้ในภาคธุรกิจ และก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มในทางการค้า – การลงทุนของจังหวัดเชียงใหม่ในภาพรวมระยะยาว
9. การพัฒนาขีดความรู้ความสามารถของผู้ประกอบการในจังหวัดเชียงใหม่ให้เกิดความรู้ใหม่ในสาขาที่ครอบคลุมและผู้ประกอบการมีความต้องการ
10. การจัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจของหอการค้า เพื่อศึกษาและทำงานร่วมกับภาครัฐ
นโยบายที่ 3 สนับสนุนมวลหมู่สมาชิก ให้ผนึกกำลังเป็นเครือข่ายความร่วมมือ (Cluster) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของสมาชิกหอการค้า และผู้ประกอบธุรกิจในจังหวัดเชียงใหม่ ให้มีความเข้มแข็ง สามารถยืนหยัดและแข่งขันได้ ทั้งในระดับภูมิภาค ระดับประเทศ ระหว่างประเทศ
แนวทางและแผนการดำเนินงาน
1. การรณรงค์เพิ่มสมาชิกของหอการค้าในครบในทุกวิสาหกิจ และในทุกอำเภอ เพื่อการดำรงบทบาทเป็นตัวแทนของวิสาหกิจในทุกประเภท โดยจะรักษาฐานสมาชิกเก่า และการสรรหาสมาชิกใหม่ไปแบบคู่ขนานโดยมีกิจกรรมที่สำคัญ เช่น
• การจัดงานสังสรรค์
• การจัดโครงการทัศนศึกษาดูงานในต่างประเทศ
• การให้ความสำคัญการสื่อสารประชาสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดทั้งด้าน เว็บไซต์, วารสาร, จดหมายข่าว, รายการวิทยุ และจดหมายอิเล็คทรอนิกส์
2. จัดโครงการฝึกอบรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของสมาชิก ที่ตรงกับความต้องการ โดยหอการค้าฯ จะเชื่อมโยงกับองค์กรที่มีองค์ความรู้ เช่น โครงการด้านนวตกรรม ของเครือข่ายนวัตกรรม, โครงการพัฒนาเทคโนโลยีและสารสนเทศ, การพัฒนาด้านบริการ-จัดการ, การพัฒนาด้านการผลิต , การพัฒนาบรรจุภัณฑ์สำหรับโลจิสติกส์ , และการให้ความรู้ด้านภาษีและการบัญชี ภายใต้โครงการ Tax up to Date เป็นต้น
3. การจัดโครงการผู้ประกอบการยอดเยี่ยมแต่ละสาขาในจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเป็นการกระตุ้น การพัฒนาธุรกิจ การบริการให้ได้มาตรฐานและเป็นแบบอย่างที่ดีทางธุรกิจของจังหวัดต่อไป
4. เป็นองค์กรผู้ประสานงานในการขยายเครือข่ายความร่วมมือของสมาชิก-ผู้ประกอบการ
5. สร้างโอกาส และรายได้ใหม่ให้แก่สมาชิก โดยใช้นวัตกรรม (Innovation) เช่น โครงการเครือข่ายนวัตกรรมของหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่
6. โครงการจัดฐานข้อมูลสมาชิกให้เป็นระบบ ปรับปรุงข้อมูลสมาชิก – วิสาหกิจ และรวบรวมข้อมูลในเชิงลึกในธุรกิจแต่ละสาขา เพื่อประโยชน์ในการนำไปใช้ในการวางแผน และกำหนดยุทธศาสตร์ของธุรกิจ เพื่อการแข่งขัน
7. สร้างจิตสำนึก ด้านจรรยาบรรณทางธุรกิจ และความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร (CSR :Corporate Social Responsibility)
นโยบายที่ 4 ร่วมมือองค์กรพันธมิตร ทั้งภาครัฐ ภาคสถาบันการศึกษา และภาคเอกชน ที่จะทำงานประสานกันเป็นเอกภาพในการดำเนินโครงการพัฒนาเศรษฐกิจ ในลักษณะร่วมคิด ร่วมงานและร่วมใจ
แนวทางและแผนการดำเนินงาน
1. ร่วมกำหนดแนวทางการพัฒนา และดำเนินโครงการ-กิจกรรมที่เกี่ยวกับการพัฒนาภาคเศรษฐกิจของจังหวัดกับภาครัฐ ภาคการศึกษา และองค์กรเอกชนในทุก ๆ ระดับ ทั้งในระดับจังหวัด ภูมิภาค และระดับประเทศ ในลักษณะร่วมคิด ร่วมงานและร่วมใจ เช่น โครงการพัฒนาฝีมือแรงงาน และบุคลากรที่ตรงกับความต้องการของตลาด เป็นต้น
2. กระชับความสัมพันธ์และการทำงานร่วมกันของคณะกรรมการร่วม
3 สถาบัน (กกร.)3. สนับสนุนโครงการ/ กิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับ SMEs ผ่านหน่วยงานบริการเครือข่ายวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมภาคเหนือ (Northern Network Service Provider for Small and Medium Enterprises : NNSPSME)
4. สานต่อ และสนับสนุนการเป็นหอการค้าคู่มิตรกับหอการค้าทั้งใน และต่างประเทศ เพื่อเป็นการขยายความ ร่วมมือทางการค้าในระดับจังหวัด และในระดับประเทศ
5. สร้างความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับสื่อมวลชน โดยพัฒนาแนวทางการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารกับสื่อมวลชนที่ทันสมัย-และเป็นข้อมูลที่ได้รับความเชื่อมั่น – เชื่อถือได้
นโยบายที่ 5 ประสานแนวคิด เชียงใหม่นครแห่งชีวิตและความมั่งคั่ง (City of Life and Prosperity) เพื่อให้เชียงใหม่เป็นเมืองแห่งวัฒนธรรมและมีสิ่งแวดล้อมที่ดี ให้ความสุขและชีวิตที่มีคุณค่าแก่ ผู้อยู่อาศัย และผู้มาเยือน ในฐานะเมืองที่น่าอยู่ และน่าท่องเที่ยวในระดับเอเชีย พร้อมกับเป็นประตูการค้าการลงทุนสู่สากล
แนวทางและแผนการดำเนินงาน
1. ผลักดันยุทธศาสตร์ให้ เชียงใหม่เป็นนครแห่งชีวิตและความมั่งคั่ง (City of Life and Prosperity) ผ่านแผนงานพัฒนาจังหวัดเชียงใหม่ในระยะ 4 ปี (2553-2556)
2. มุ่งเน้นความสำคัญในการพัฒนาผังเมืองจังหวัดเชียงใหม่ให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงและความต้องการของประชาชนชาวเชียงใหม่ และไม่สร้างผลกระทบต่อภาคธุรกิจส่วนรวมในอนาคต
3. การรักษาประเพณี วัฒนธรรมที่เป็นเสน่ห์ และมูลค่าเพิ่มของจังหวัดเชียงใหม่ เช่น โครงการพิธีดำหัวปี๋ใหม่เมืองของภาคเอกชน การร่วมอนุรักษ์การแต่งกายผ้าเมือง เป็นต้น
4. การร่วมรักษาและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ที่เกิดขึ้นจังหวัดเชียงใหม่ เช่น ปัญหาหมอกควันในช่วงฤดูแล้ง, ปัญหาภูมิทัศน์ของเมือง เป็นต้น
5. การเป็นเจ้าภาพหลักในยุทธศาสตร์เศรษฐกิจ เช่น พัฒนาในเรื่องพลังงาน โลจิสติกส์ ค้าส่ง – ค้าปลีก และการเพิ่มผลผลิต
6. การเพิ่มขีดความสามารถด้านการค้าชายแดน และการค้าอนุภูมิภาคในเขตภาคเหนือตอนบน
Resource:http://www.chiangmaichamber.com/?name=news&file=readnews&id=97
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น