วันพฤหัสบดีที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2552

"มาลีสามพราน-ซันสวีท"ยอมคุมราคา ผู้ส่งออก"ข้าวโพดหวาน"ดิ้นหนีADอียู








"มาลีสามพราน-ซันสวีท"ยอมคุมราคา ผู้ส่งออก"ข้าวโพดหวาน"ดิ้นหนีADอียู

Contributed by เพ็ญวิภา เกลี้ยงสุวรรณ
Wednesday, 11 July 2007


ผู้ส่งออกข้าวโพดกระป๋องเร่งปรับกลยุทธ์เจาะตลาดใหม่ หลังตลาดสหภาพยุโรปเตรียมประกาศภาษี AD ด้านผู้ส่งออกค้านแนวคิดกำหนดราคา ส่งออกร่วมกัน แนะไม่ควรบังคับแต่ให้ตั้งเป็นราคาแนะนำแทน


"ซันสวีท" เปิดตัว "ถั่วลันเตา กระป๋อง" หวังลดความเสี่ยงตลาดข้าวโพดหวานกระป๋อง "ข้าวโพดหวานกระป๋อง" ถือเป็นสินค้าที่มีศักยภาพสูง และมีการขยายตัวอย่างก้าวกระโดดในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามเริ่มเกิดปัญหาว่า เมื่อมีผู้ส่งออกหลายรายมีการตัดราคากัน ทำให้สมาคมผู้ผลิตข้าวโพดหวานยุโรป (Euro pean Sweet Corn Processors Association หรือ AETMD) ได้ร้องเรียนว่า ไทยได้ส่งสินค้าข้าวโพดหวานเข้าไปขายทุ่มตลาดในสหภาพยุโรป

เมื่อเดือนธันวาคม 2549 ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปได้ประกาศอัตราภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) ขั้นต้นกับสินค้าข้าวโพดหวานกระป๋องจากประเทศไทย ในอัตราเฉลี่ย ร้อยละ 4.3-13.2 โดยเรียกเก็บจากบริษัท กาญจน์ คอร์น ร้อยละ 4.3, บมจ.มาลีสามพราน ร้อยละ 12.8, บริษัท ริเวอร์แควอุตสาหกรรมอาหาร ร้อยละ 12.8 และบริษัท ซันสวีท ร้อยละ 11.2 ส่วนผู้ส่งออกรายอื่นๆ จะต้องเสียภาษีนำเข้าในอัตราเฉลี่ย 13.2

ทางฝ่ายไทยพยายามแก้ปัญหาโดยเสนอแนวคิดให้ผู้ประกอบการทั้งที่เป็นสมาชิกและไม่ได้เป็นสมาชิกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูปกำหนดราคาส่งออกร่วมกัน เพื่อไม่ให้มีการแข่งขันตัดราคากันเอง ขณะเดียวกันผู้ส่งออกแต่ละรายต้องปรับกลยุทธ์ในการส่งออกเพื่อหาทางออกให้กับธุรกิจของตน

นายสิงห์ ตั้งเจริญชัยชนะ กรรมการบริหาร บริษัทกาญจน์ คอร์น จำกัด เปิดเผยว่า ทางบริษัทถูกสหภาพยุโรปเรียกเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) สินค้า ข้าวโพดหวาน ในอัตรา 12.9% ซึ่งเป็นอัตรา AD ที่ไม่ส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดสหภาพยุโรป จึงตัดสินใจไม่เจรจาทำ price undertaking ตามข้อเสนอของสหภาพยุโรป เพราะบริษัทและสมาชิกกลุ่มข้าวโพดหวานส่วนใหญ่ยังเห็นว่า ระบบดังกล่าวมีการกำหนดเงื่อนไขเข้มงวดเกินไป ปฏิบัติได้ยาก เช่น กำหนดให้ผู้ส่งออกห้ามส่งออกสินค้าชนิดเดียวกันให้กับลูกค้าเดียวกัน ซึ่งจะมีปัญหากับการส่งออกสินค้าข้าวโพดชนิดอื่นๆ และยังมีเงื่อนไขในเรื่องการชำระเงินด้วย แนวทางการปรับตัว คือ ลดกำลังการผลิตสำหรับตลาดนี้ลง 50% และมุ่งเน้นทำตลาดส่งออกสินค้าในตลาดอื่นๆ เช่น รัสเซีย สหรัฐ เกาหลี และไต้หวันแทน และรุกตลาดใหม่ เช่น ตะวันออก กลาง และอินเดีย

นายคันศร สมณา ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท ซันสวีท จำกัด ผู้ผลิตและส่งออกสินค้าข้าวโพดหวานบรรจุกระป๋อง เปิดเผยกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ในปีนี้บริษัทตั้งเป้ารายได้จากการ ส่งออกสินค้าข้าวโพดหวานบรรจุกระป๋องไว้ที่ 1,000 ล้านบาท แม้บริษัทจะอยู่ในกลุ่มบริษัทผู้ส่งออกที่ถูกเรียกเก็บภาษี AD ในตลาดสหภาพยุโรป แต่เชื่อมั่นว่าจะไม่กระทบต่อยอดขายที่ตั้งไว้ เนื่องจากบริษัทมีสัดส่วนตลาดสหภาพยุโรปไม่มาก โดยตลาดหลักของบริษัทอยู่ในเอเชีย 45% ยุโรปตะวันออก 35% ที่เหลือกระจายอยู่ในหมู่เกาะแปซิฟิก ตะวันออกกลาง แอฟริกา ฯลฯโดยภาพรวมแล้วเชื่อว่า สินค้าข้าวโพดหวานของไทยยังมีศักยภาพที่จะเติบโตในตลาดโลกได้อย่างต่อเนื่อง แต่ในปีนี้ผู้ส่งออกไทยคงต้องเหนื่อยและทำงานหนักมากขึ้นเพื่อรักษาฐานตลาดเดิมที่มีอยู่ เพราะมีปัญหาอุปสรรคหลายด้าน เช่น ปัญหาเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นและปัญหาทางการเมืองของไทยทำให้ลูกค้าขาดความเชื่อมั่นที่จะสั่งซื้อสินค้าจากประเทศไทย ขณะเดียวกันคู่แข่งสำคัญ เช่น จีน และเวียดนาม มีต้นทุนการผลิตต่ำกว่าไทยถึง 15% ทำให้คู่ค้าต่างชาติหยิบยกข้อแตกต่าง เรื่องราคามาใช้เป็นประเด็นขอต่อรองราคาสินค้าไทยมากขึ้น

ที่มา : หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 29 มิถุนายน 2550

Resource:http://agro.psu.ac.th/index.php?option=com_content&task=view&id=1012&Itemid=113
Link เชียงใหม่เทรดดิ้ง: http://chiangmaitrading.com/home.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น