วันพฤหัสบดีที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2552

จี้จัดระเบียบพ่อค้าข้าวโพดหวาน หวั่นตลาดใหม่สหรัฐฯซ้ำรอยอียู




จี้จัดระเบียบพ่อค้าข้าวโพดหวาน หวั่นตลาดใหม่สหรัฐฯซ้ำรอยอียู


Contributed by เพ็ญวิภา เกลี้ยงสุวรรรณ
Friday, 28 September 2007


ข้าวโพดหวานจี้พาณิชย์ บีบผู้ส่งออกต้องเป็นสมาชิกสมาคมป้องกันขายต่ำกว่าต้นทุน หวั่นสหรัฐใช้เป็นข้ออ้างเปิดไต่สวนเรียกเก็บภาษีเอดีซ้ำรอยอียู ขณะที่สถานการณ์ล่าสุดอียูสั่งปิดตายตลาดข้าวโพดหวานไทย แฉซ่อนกลให้รับเงื่อนไข Price Undertaking แต่ตลบหลังวางกฎโหดรับจ้างผลิตยี่ห้อยุโรปไม่ได้ยกเว้นภาษีเอดี


นายพรชัย ปิ่นวิเศษ อุปนายก และประธานกลุ่มผู้ผลิตข้าวโพดหวาน สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"ว่าจากกรณีที่รัฐบาลโดยกระทรวงพาณิชย์ไม่ได้มีมาตรการบังคับให้ผู้ผลิตและส่งออกข้าวโพดหวานบรรจุกระป๋องทุกรายของไทยต้องเป็นสมาชิกของสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป ส่งผลให้มีผู้ส่งออกหลายรายมีการขายตัดราคาในลักษณะต่ำกว่าต้นทุน จนเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้สหภาพยุโรป(อียู)ทำการเปิดไต่สวน และประกาศบังคับใช้มาตรการเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด(เอดี)กับสินค้าข้าวโพดหวานของไทยอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาในอัตรา 3.1-12.9%


ทั้งนี้จากผลกระทบที่ถูกอียูเรียกเก็บภาษีเอดีบวกกับภาษีนำเข้าปกติอีก 15% ได้ส่งผลให้การส่งออกข้าวโพดหวานของไทยไปอียูลดลงต่อเนื่อง ผู้ส่งออกจึงพยายามหาตลาดอื่นชดเชย โดยตลาดที่กำลังขยายตัวมากในเวลานี้ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวัน เฉพาะอย่างยิ่งตลาดสหรัฐในช่วงครึ่งแรกปี 2550 มูลค่าการส่งออกได้ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2549 ทั้งปีกว่า 300% (ปี 2549 ไทยส่งออกข้าวโพดหวานไปสหรัฐมูลค่า 34 ล้านบาท ช่วง 6 เดือนแรกปีนี้ส่งออก 107 ล้านบาท)


สำหรับกรณีที่สหรัฐซึ่งเป็นผู้ผลิตข้าวโพดหวานรายใหญ่ที่สุดของโลกได้หันมานำเข้าจากไทยเพิ่มขึ้นเป็นผลจากสหรัฐได้ลดการเพาะปลูกข้าวโพดหวานลง และหันไปปลูกข้าวโพดเพื่อนำไปผลิตเอธานอลมากขึ้นเพราะได้ราคาดีกว่า ส่งผลให้ข้าวโพดหวานเพื่อการบริโภคในสหรัฐมีไม่เพียงพอ นอกจากนี้จากการที่ข้าวโพดหวานในสหรัฐเป็นข้าวโพดจีเอ็มโอ(ข้าวโพดตัดแต่งพันธุกรรม) ผู้บริโภคบางกลุ่มไม่บริโภคจึงต้องหันมานำเข้าจากไทยมากขึ้น


นายพรชัย เปิดเผยถึงความคืบหน้ากรณีที่อียู ได้ออกประกาศเรียกเก็บภาษีเอดีข้าวโพดหวานไทย แต่มีเงื่อนไขผ่อนปรนจะไม่เรียกเก็บภาษีเอดี หากบริษัทส่งออกของไทยยอมรับเงื่อนไขที่จะส่งออกในราคาที่สูงขึ้น(Price Undertaking) แต่มีข้อจำกัดในเรื่องต่างๆ ด้วย


ล่าสุดทางอียูได้ส่งเจ้าหน้าที่มาสอนวิธีลงข้อมูลในแบบฟอร์มแก่บริษัทที่ยอมรับเงื่อนไขของไทย(รวม 14 บริษัท) พร้อมกับแจ้งข้อมูลใหม่ให้ทราบว่า ภายใต้เงื่อนไข Price Undertaking บริษัทที่ส่งออกภายใต้แบรนด์ของลูกค้าในอียูจะไม่ได้รับสิทธิยกเว้นการเก็บภาษีเอดี แต่ยังต้องเสียภาษีในอัตราเฉลี่ยทุกรายที่ 12.9% ตามเดิม ซึ่งถือเป็นการปิดตลาดข้าวโพดหวานของไทยเกือบจะสิ้นเชิง เนื่องจากทุกรายส่วนใหญ่รับจ้างผลิตภายใต้แบรนด์ของลูกค้าแทบทั้งสิ้น อย่างไรก็ดีเวลานี้ยังมีบางบริษัทที่ยังส่งออกไปอียูได้ โดยผู้นำเข้าเป็นผู้รับภาระภาษีเอดีเนื่องจากผลผลิตข้าวโพดหวานในอียูมีไม่เพียงพอกับความต้องการ


ด้านนายโรจน์ บุรุษรัตนพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ริเวอร์แคว อินเตอร์เนชั่นแนลอุตสาหกรรมอาหาร จำกัด กล่าวว่า อียูเป็นตลาดส่งออกข้าวโพดหวานของบริษัทสัดส่วนประมาณ 20% ขณะที่บริษัทส่งออกไปตลาดญี่ปุ่นและไต้หวันสัดส่วนร่วมกันประมาณ 30% ตะวันออกกลาง 10% ที่เหลือส่งไปตลาดเอเชียอื่นๆ สำหรับการส่งออกไปตลาดอียูของบริษัทในเวลานี้ยังส่งออกได้บ้างในกรณีที่ลูกค้ายอมรับราคาและภาระด้านภาษีเอดี คาดในปีนี้การส่งออกของบริษัทในภาพรวมน่าจะขยายตัวสูงกว่า 10% เนื่องจากตลาดอื่นยังไปได้ดี

ที่มา : หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 2254 วันที่ 20 ก.ย. - 22 ก.ย. 2550


Link เชียงใหม่เทรดดิ้ง: http://chiangmaitrading.com/home.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น