วันพุธที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2552

ประวัติชาวจีนยูนานในไทยจากพ่อ

ประวัติชาวจีนยูนานในไทยจากพ่อ
.

พ่อเป็นอดิตทหารจีนคณะชาติ ท่านชอบเล่าให้ฟังตอนเด็ก ว่า “ผู้บังคับบัญชาของพ่อชื่อหลีเหวินฮ้วน ซึ่งมีสมญานามว่า “นายพลหลี” มีภูมิลำเนาเป็นชาวจังหวัดอิ้งเทียน นครนานกิ่ง (อดีตเมืองหลวงของจีน) ช่วงต้นราชวงศ์หมิงบรรพชนได้ติดตามท่านมู่อิ่งเดินทัพมาทางใต้ ลงหลักปักฐานที่หมู่บ้านเย่อสุ่ยถัง อำเภอเจิ้นคัง (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอหยงเต๋อ) มณฑลยูนนาน
.
สมัยญี่ปุ่นเข้ารุกรานจีน ท่านนายพลลีได้มีส่วนร่วมในการต่อต้านญี่ปุ่น เมื่อพรรคคอมมิสต์ได้ปฏิวัติ และเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในประเทศจีน ขณะนั้น นายพลลี ดำรงตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการกองกำลังป้องกัน “อำเภอเจิ้งคัง” โดยขึ้นตรงต่อผู้ว่าราชการมณฑลยูนนาน คือ ท่านผู้ว่า “หลู่ฮั่น” เมื่อเห็นว่าสถาณการณ์ไม่ดีจึงได้พาทหารและอาสาสมัครประมาณพันกว่าคนออกเดินทางไปตั้งหลักอยู่แถวชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน คือ ประเทศพม่า ซึ่งมีชายแดนติดกับมณฑลยูนนานของประเทศจีน แรกเริ่มเดินทัพจากอำเภอ เจิ้งคัง อยู่ที่หม่าหลี่ป๊า หรือโกกังค์ ในประเทศพม่า ได้ระยะหนึ่ง นายพลลีได้พากองกำลังมุ่งหน้าไปที่ “เมืองสาด” ในเขตเชียงตุงประเทศพม่า
.
เหตุที่กองกำลังต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นกองทัพหรือกองกำลังอาสาต่างมุ่งหน้าเดินทางไปเมืองสาด หลังจากที่ต่างอยู่กันอย่างกระจัดกระจาย ก็ด้วยเหตุผลและหัวใจเดียวกันคือการกู้ชาติ ทำไมต้องเป็นเมืองสาดเพราะที่แห่งนี้เป็นศูนย์รวมของเหล่าทหารรัฐบาล ก๊กมินตั๋ง (KMT) กลุ่มทหารชาวยูนนาน โดยมี “นายพลหลีหมิง” เป็นผู้นำที่มีเชื้อสายยูนนาน ท่านเป็นเพื่อนของนายพล แม็คอาเธอร์ แห่งกองทัพสหรัฐอเมริกา สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ท่านเป็นผู้บังคับบัญชาของนายพลลีเหวินฮ้วน แห่งถ้ำง๊อบ อำเภอไชยปราการ จังหวัดเชียงใหม่ และนายพลต้วนซีเหวิน แห่งดอยแม่สลอง อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย ในเวลานั้นนายพลหลีหมิง เป็นศูนย์รวมที่สำคัญยิ่งในทุก ๆ ด้านโดยเฉพาะทางด้านจิตใจและกำลังใจของทหาร กลุ่มชาวยูนนานทุกคนมีกำลังใจที่ดีมาก ทุกอย่างดำเนินไปด้วยดีแต่ต้องสะดุดหยุดลง เพราะนายพลลีหมิงถูกกลั่นแกล้งจากทหารสายอื่น ท่านถูกรายงานไปไต้หวัน ในที่สุดถูกเรียกตัวกลับไต้หวันและถูกกักบริเวณภายในบ้านพักจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต
.
ท่านนายพลหลีหมิงถูกเรียกตัวกลับไต้หวันแล้ว ทางรัฐบาลก๊กมินตั๋ง (จีนคณะชาติ KMT) ได้ส่ง “นายพลหลิวหยุ่นหลิง” มาแทน ท่านไม่ได้เป็นคนเชื้อสายยูนนานนายพลหลิวหยุ่นหลิง ได้จัดกระบวนทัพครั้งใหญ่อีกครั้ง โดยให้กองพลที่ 13 บังคับบัญชาโดย นายพลหลีเหวินฮ้วน (นายพลลี) และกองพลที่ 14 บังคับบัญชาโดยนายพลหลิวเซ่าทัง ให้ทั้งสองกองพันมารวมกันเป็น กองทัพที่ 3 ให้นายพลลีเหวินฮ้วน รับตำแหน่งแม่ทัพ นายพลหลิวเซ่าทัง รับตำแหน่งรองแม่ทัพที่หนึ่ง ตั้งแต่ออกจากจีนมีการสู้รบมาโดยตลอดที่เมืองสาดนี้เองทีเกิดการสู้รบครั้งใหญ่ ระหว่างกองกำลังทหารก๊กมินตั๋ง และกองกำลังทหารพม่า จากการปะทะด้วยกำลังทั้งสองฝ่ายได้ลุกลามเป็นปัญหาระหว่างประเทศ โดยมีรัฐบาลจีนของพรรคอมมิวนิสต์ให้การสนับสนุน ได้ทำหนังสือร้องเรียนไปสหประชาชาติ ทางสหประชาชาติได้ตั้งตัวแทนฝ่ายต่างๆ เข้ามาแก้ปัญหาตัวแทนมาจากไต้หวัน (ในฐานะเป็นประเทศแม่กองกำลังก๊กมินตั๋ง) ประเทศพม่า ประเทศสหรัฐอเมริกา และตัวแทนจากประเทศไทย ตัวแทนฝ่ายไทย คือ พลเอกชาติชาย ชุณหวัณ อดีตนายกรัฐมนตรี
.
ผลของการประชุม คือ ทุกฝ่ายตกลงให้อพยพกลุ่มก๊กมินตั๋ง หมายถึง ทหารและพลเรือนพลัดถิ่นให้เดินทางกลับไปประเทศแม่ของตน คือ ไต้หวัน ที่ประธานาธิบดีเจียงไคเช็ค ซึ่งเป็นผู้นำพรรคก๊กมินตั๋ง ถอยร่นหนีไปตั้งถิ่นฐาน (ค.ศ. 1953) การอพยพครั้งที่ 1 จัดโดยองค์การสหประชาชาติ เส้นทางผ่านท่าขี้เหล็ก (ติดกับอำเภอแม่สายของไทย) ให้ผู้อพยพเดินทางมาขึ้นเครื่องบินที่จังหวัดลำปาง การอพยพครั้งนั้นมีประมาณ 8,000 คน (ค.ศ. 1961) การอพยพครั้งที่ 2 การอพยพไปจากที่ต่างๆ 3 แห่ง คือ จากจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย และประเทศลาว ผู้อพยพทั้งหมดเดินทางไปรวมกันที่ “หลวงน้ำทา” ประเทศลาว จำนวนผู้อพยพทั้งหมดกว่า 10,000 คน การอพยพครั้งนี้รัฐบาลก๊กมินตั๋งจากไต้หวันได้จัดเครื่องบินมารับเอง
.
ก่อนที่จะมีการอพยพไปไต้หวันนั้นทหารก๊กมินตั๋งที่ชายแดนไทย พม่า และลาว แบ่งออกเป็น 5 กองทัพ เมื่ออพยพกลับไต้หวันทั้งสองครั้งสิ้นสุดลง กองทัพที่ 1,2,4 ได้อพยพกลับไต้หวัน ส่วนกองทัพที่เหลือ คือ กองทัพที่ 3 นำโดย นายพลลี เหวินฮ้วน หรือนายพลลี เป็นชื่อเรียกของทหารราชการไทย ซึ่งอดีตกองบัญชาการและบ้านพักของท่านยังคงมีอยู่ที่ถ้ำง๊อบ อำเภอไชยปราการ จังหวัดเชียงใหม่ ท่านได้เสียชีวิตเมื่อปี ค.ศ. 2000 ส่วนกองทัพที่ 5 นำโดย นายพลต้วนซีเหวิน หรือนายพลต้วน ท่านได้เสียชีวิตเมื่อปี ค.ศ. 1981 กองกำลังของกองทัพที่ 3 และ 5 บางส่วนได้อพยพไปไต้หวัน และคงกำลังอีกส่วนหนึ่งไว้เพื่อรอวันกลับประเทศจีน
.
สุดท้ายพรรครัฐบาลก๊กมินตั๋ง ได้ทิ้งทั้งสองนายพล (นายพลต้วน นายพลลี) และกองทัพที่ 3 กองทัพที่ 5 อย่างสิ้นเชิง ปล่อยให้ทั้งสองนายพลต้องต่อสู้ และทำทุกวิถีทางหาเลี้ยงทหารทั้งกองทัพรวมทั้งครอบครัวของทหารผู้ใต้บังคับบัญชาเพื่อความอยู่รอด ต้องหาแผ่นดิน หาประเทศใหม่ เพื่อลูกน้องใต้บังคับบัญชาและครอบครัว
.
ประมาณปี พ.ศ. 2503 – 2504 (ค.ศ. 1960) ชายแดนไทย – ลาว ด้านอำเภอเชียงของและอำเภอเชียงคำ มี ผกค. (ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์) แทรกซึมและได้จัดชนกลุ่มน้อยเผ่าม้งเป็นหมวดเป็นหมู่ขึ้นในเขตดอยผาหม่น และดอยยาว อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย จุดประสงค์เพื่อต่อต้านรัฐบาลไทย เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ คณะรัฐบาลโดยการนำของ “จอมพลถนอม กิตติขจร” หลังจากตกลงกันเป็นการภายในจึงสั่งการอย่างลับ ๆ ให้นายพลลี จัดกำลังพันกว่านายเคลื่อนไปประจำยังดอยผาหม่นขัดขวางการกระทำของชนเผ่าม้ง เมื่อกำลังของนายพลลีไปถึงไม่นานก็สามารถระงับเหตุการณ์ครั้งนั้นได้
.
ต่อมานายพลลีได้โยกย้ายทหารส่วนใหญ่ไปยังบ้านถ้ำง๊อบ ขณะนั้นขึ้นกับอำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ แต่ยังคงเหลือทหารประมาณ 500 นาย ไว้ที่ดอยผาหม่น ทางฝ่าย ผกค. เมื่อรู้ว่ากำลังทหารของนายพลลี ส่วนใหญ่ย้ายออกไปแล้วจึงเริ่มก่อการไม่สงบขึ้นอีก นายพลลีได้จัดกำลังทหารประมาณกว่า 200 นาย เข้าไปร่วมกับทหารลาวซึ่งขณะนั้น “รัฐบาล ท้าวภูมี หน่อสวรรค์” เป็นผู้นำเข้ากวาดล้างฐานใหญ่ของคอมมิวนิสต์ลาวที่ไชยบุรี หลังจากนั้นดอยผาหม่นได้สงบไปหลายปี
.
ประมาณปี พ.ศ. 2510 (ค.ศ.1967) ดอยผาหม่นได้มีคอมมิวนิสต์สากลให้การสนับสนุนพยายามก่อกวนและสร้างความเข้าใจผิดระหว่างรัฐบาลไทยกับทหารของนายพลลี เช่น ฆ่าผู้ใหญ่บ้าน และคนของทางราชการอีกหลายคนโดยเอาเครื่องแบบทหารของทหารนายพลลีไปวางไว้ที่ไม่ห่างไกลจากศพ ทางการจึงบังคับให้กองกำลังของนายพลลีให้ออกจากดอยผาหม่นทั้งหมด ให้ย้ายไปที่ถ้ำง๊อบที่ได้ย้ายไปก่อนหน้านั้น เมื่อนายพลลีย้ายทหารออกจากพื้นที่หมดแล้ว จากนั้นประมาณ 3 เดือน คอมมิวนิสต์สากลได้สมทบและช่วยผู้ก่อการร้ายฝ่ายไทย บุกเข้ายึดดอยผาหม่น พร้อมทั้งส่งอาวุธจำนวนมากผ่านประเทศลาวเข้ามาฝึกอบรมชาวเผ่าม้ง เพื่อให้เป็นกำลังสำคัญในการก่อกวนทหารไทยโดยเข้าจู่โจมเจ้าหน้าที่ตำรวจ ลอบทำลายรถโดยสาร และทรัพย์สินของชาวบ้าน กระทั้งทำกลอุบายเข้ามอบตัวต่อทางการเพื่อหลอกล่อให้เจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ ไปสังหาร เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ผู้กำกับการตำรวจและเสนาธิการกองทัพภาคที่ 3
.
ต่อมา พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ รองเสนาธิการใหญ่ของกองบัญชาการทหารสูงสุดในขณะนั้น ได้ตกลงกับนายพลลี และนายพลต้วน ให้จัดกำลังทหารประมาณพันกว่านายรวมกับทางราชการกวาดล้าง ผกค. ที่ดอยผาหม่น ดอยหลวง ได้เป็นผลสำเร็จ เมื่อทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถฯ เสด็จพระราชดำเนินถึงอำเภอเชียงของ เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ.1971 พระราชทานวโรกาสให้นายพลต้วน และนายพลลีเข้าเฝ้าเป็นการส่วนพระองค์ มีกระแสรับสั่งชมเชยนายพลทั้งสองในการกวาดล้างผู้ก่อการร้ายได้สำเร็จ และนายพลลีได้ถวายหินที่ระลึกซึ่งเป็นหินจากดอยผาหม่น ดอยผาตั้ง เพื่อแสดงว่าพื้นที่ดังกล่าวได้กลับคืนเป็นของปวงชนชาวไทยแล้วโดยสมบูรณ์
.
หลังจากการสู้รบยุติลง รัฐบาลให้ทหารของนายพลลีบางส่วนคงไว้ที่ดอยผาตั้งเพื่อทำหน้าที่เฝ้ารักษาเขตชายแดนบริเวณนี้อีกส่วนหนึ่งให้กลับฐานเดิม คือ ถ้ำง๊อบ และบ้านอรุโณทัย จังหวัดเชียงใหม่ ปัจจุบันหมู่บ้านดอยผาตั้งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่ง โดยเฉพาะช่วงฤดูหนาว อยู่ในอำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย ณ
.
สมรภูมิครั้งนั้นเป็นจุดเริ่มต้นของการได้รับการโอนสัญชาติเป็นคนไทย โดยทางการรัฐบาลไทยได้เห็นการทำสงครามอย่างกล้าหาญ เสียสละเพื่อปกป้องแผ่นดินไทย จึงได้กราบบังคมทูล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ได้ทรงทราบและได้พระมหากรุณาธิคุณให้สัญชาติไทยแก่อดีตทหารจีน คณะชาติก๊กมินตั๋งและครอบครัว เป็นการสิ้นสุดชีวิตที่เร่ร่อนไร้สัญชาติ ไร้แผ่นดินอันยาวนาน
.
สมรภูมิเขาค้อ เขาหญ้าที่ จ.เพชรบูรณ์ พ.ศ. 2525 (ค.ศ.1982) เขาค้อ เขาหญ้า เป็นแหล่งสะสมกำลังของผู้ก่อการร้าย คอมมิวนิสต์แหล่งสุดท้ายที่ใหญ่ที่สุดที่ยังคงเหลืออยู่ในสมัยของท่านพลเอกเปรม ติณสูลนนท์ ได้ติดต่อให้กองทัพที่ 3 ของนายพลลี และกองทัพที่ 5 ของนายพลต้วนส่งกำลังทหารรวม 400 นายร่วมกองกำลังของทางราชการเข้าปราบปราม ผกค. เป็นการกวาดล้างผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ในประเทศไทยให้หมดไป ซี่งเป็นสิ่งที่พวกเราอดีตทหารจีนคณะชาติก๊กมินตั๋ง พร้อมทั้งลูกหลานรู้สึกภาคภูมิใจและเป็นเกียรติอย่างสูง ที่ได้มีโอกาสที่ได้ปกป้องประเทศชาติอีกครั้ง
.
กองกำลังของ “นายพลลีเหวินฮ้วน” นอกจากประจำที่ถ้ำง๊อบ อ.ไชยปราการ จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นที่ตั้งกองบัญชาการ ท่านมีหมู่บ้านบริวารอีก 40 กว่าหมู่บ้านที่อยู่ในความดูแล และตามชายแดน 3 จังหวัด คือ เชียงใหม่ เชียงราย และแม่ฮ่องสอน ซึ่งส่วนมากเป็นชาวจีนยูนาน ปัจจุบันได้มีการโอนสัญชาติเป็นชาวไทยเชื้อสายยูนนาน อาศัยอยู่ตามชายแดน อ.เวียงแหง อ.เชียงดาว อ.ไชยปราการ อ.ฝาง และอำเภอแม่อายของจังหวัดเชียงใหม่ ส่วนจังหวัดเชียงราย มี อ.เวียงแก่น อ.เชียงของ อ.แม่สรวย อ.แม่สาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีบ้านแม่ออ อ.เมือง
.
พวกเราลูกหลานอดีตทหารจีนคณะชาติก๊กมินตั๋งและครอบครัวมีชีวิตอยู่ได้ทุกวันนี้ก็ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทพระสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินินาถ และบรมวงศ์ศานุวงศ์ทุกพระองค์แห่งราชวงค์จักรี และความเมตตากรุณาจากรัฐบาลไทย ตลอดจนได้รับความเห็นอกเห็นใจจากประชาชนชาวไทยที่เอื้อเฟื้อ และอนุเคราะห์พวกข้าพเจ้าให้ที่อยู่ที่ทำมาหากินเพื่อยังชีพบนแผ่นดินไทยมาเป็นเวลากว่า 60 ปีพวกข้าเจ้าซาบซึ้งและระลึกในพระมหากรุณาธิคุณและสำนึกในหนี้บุญคุณต่อแผ่นดินไทยตลอดจนประชาชนชาวไทยทั้งมวล และตลอดไป

Resource:http://banarunothai.pantown.com/

1 ความคิดเห็น:

  1. คุณพ่อ กระผมเองครับ
    ตอนนี้ผมอยู่กทม. เป็นห่วงท่านมากๆ
    เพราะท่านอายุ 85 แล้วครับ

    ตอบลบ