วันพุธที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2552

ลักษณะทางเศรษฐกิจของจังหวัดเชียงใหม่

ลักษณะทางเศรษฐกิจของจังหวัดเชียงใหม่

จังหวัดเชียงใหม่เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจในภาคเหนือของประเทศไทย รายได้หลักของประชากรมาจากการเกษตรกรรมและการท่องเที่ยว หากพิจารณาโครงสร้างทางเศรษฐกิจของจังหวัด ประกอบด้วยอาชีพที่สำคัญแยกได้ตามลำดับความสำคัญ ดังนี้

1. การเกษตรกรรม
.

1.1 การทำนา ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพในการทำนามีถึงร้อยละ 80 ของประชากรทั้งหมด ในบางอำเภอสมารถทำนาได้ปีละ 2 ครั้ง เช่นอำเภอสันป่าตอง เพราะอยู่ในพื้นที่รับน้ำชลประทาน บริเวณที่เพาะปลูกข้าวอยู่ตามที่ราบริมฝั่งแม่น้ำ และที่ราบระหว่างภูเขา ข้าวที่ปลูกจะปลูกข้าวเหนียวซึ่งเอาไว้รับประทานมากกว่าข้าวเจ้าซึ่งเอาไว้ขาย เริ่มปลูกตั้งแต่เดือนมิถุนายนเป็นต้นไปและเก็บเกี่ยวประมาณเดือนธันวาคม การทำนาจะมีทั้งนาปีหรือนาดำและทำนาปรัง
.

1.2 การปลูกพืชไร่ มีการปลูก 2 ฤดู คือทำไร่ในฤดูฝน คือ ทำไร่ในฤดูฝน กับทำไร่หลังฤดูทำนา คือหลังจากเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว พืฃที่ปลูกได้แก่ ผักต่างๆ เช่นกะหล่ำปลี ผักกาดขาว ผักกาดหางหงส์ ถั่วลันเตา แตงกวา ซึ่งจะปลูกมากในเขตอำเภอฝาง แม่แตง สันทราย แม่ริม สันป่าตอง จอมทอง สันกำแพง และดอยสะเก็ด
.

นอกจากพวกผักต่างๆแล้ว พืชไร่เศรษฐกิจที่ทำรายได้ให้แก่เกษตรกรได้แก่ ถั่วเหลือง ถั่วลิสง กระเทียม ยาสูบและใบชาเป็นต้น
.

1.3 การทำสวนผลไม้ มีลำไย ลิ้นจี่ มะม่วง โดยเฉพาะลำไยทำรายได้ให้แก่ชาวสวนมาก อำเภอที่ปลูกลำไยมากคือ อำเภอสารภี นอกจากลำไยยังมีการทำสวนส้ม ปัจจุบันที่มีชื่อเสียงมีเนื้อที่ปลูกประมาณ 1,000 ไร่ ของสวนธนาธร ในเขตอำเภอฝาง ได้แก่พันธุ์ฟรีมองต์ พันธุ์สายน้ำผึ้ง เป็นต้น ลิ้นจี่ปลูกมากในเขตอำเภอฝาง อำเภอไชยปราการ อำเภอแม่อาย นอกจากนี้ยังมีสตรอเบอรี่ นิยมปลูกทั่วไปในบริเวณเชิงเขา ผลผลิตออกมามากในช่วงฤดูหนาวประมาณเดือนธันวาคม ถึงเดือนกุมภาพันธ์
.

1.4 การทำป่าไม้ จังหวัดเชียงใหม่มีพื้นที่ป่าไม้มากที่สุดในภาคเหนือ อาชีพการทำป่าไม้มีมานานแล้ว ทำรายได้ให้แก่ผู้ดำเนินกิจการเป็นอย่างมากแต่ปัจจุบันพื้นที่ป่าไม้ลดลง เนื่องจากการบุกรุกทำลายป่าของชาวเขาที่ต้องการพื้นที่ทำไร่เลื่อนลอย การใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติของหน่วยราชการต่างๆ เช่นการตัดถนน การสร้างอ่างเก็บน้ำ นอกจากนี้ยังมีการบุกรุกตัดไม้ของนายทุน การทำป่าไม้จึงมีในท้องที่อำเภอทุกอำเภอ
.

1.5 การเลี้ยงสัตว์ ส่วนใหญ่เป็นการเลี้ยงเพื่อการบริโภค และการใช้แรงงาน เช่น โค กระบือ ม้า ใช้เป็นพาหนะและบรรทุกของในชนบท สัตว์ที่เลี้ยงเป็นอาหาร เช่นเป็ด ไก่ สุกร แพะ และปลา ปัจจุบันสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดได้ดำเนินการปรับปรุงพันธ์โคนม โคเนื้อโดยใช้พ่อพันธ์คุมฝูงและวิธีการผสมเทียม มีการส่งเสริมให้เอกชนลงทุนด้านฟาร์มโคนม ให้ผลผลิตน้ำนมพอเพียงแก่การบริโภคของประชากรในเชียงใหม่
.

1.6 การประมง สภาพการประมงในจังหวัดเชียงใหม่เป็นการทำประมงน้ำจืดจากแหล่งน้ำธรรมชาติ เช่นแม่น้ำปิง เขื่อนต่างๆ เป็นต้น ส่วนใหญ่มักจะทำเพื่อการบริโภค อาชีพการประมงยังไม่แพร่หลายมากนัก แต่อย่างไรก็ตามปัจจุบันทางราชการได้มีการส่งเสริมการเลี้ยงปลาพันธุ์ต่างๆ เช่นปลาไน ปลานิล ปลายี่สกเทศ ปลาตะเพียนขาว ปลาสวาย ปลาทับทิม เป็นต้น
.

2. การอุตสาหกรรม
โรงงานอุตสาหกรรมในจังหวัดเชียงใหม่ส่วนใหญ่เป็นโรงงานอุตสาหกรรมขนาดย่อม และอุตสาหกรรมในครอบครัว ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับผลผลิตทางการเกษตร เช่นโรงสีข้าว โรงงานน้ำตาล โรงงานสุรา โรงบ่มใบยาสูบเป็นต้น นอกจากนี้ยังมีโรงงานอุตสาหกรรมเครื่องปั้นดินเผา ทำไม้ โม่บดหิน อาหารกระป๋อง ผลไม้กระป่อง เป็นต้น
.

สำหรับอุตสาหกรรมเพื่อการท่องเที่ยว คือการทำร่ม แกะสลัก ตัดเย็บเสื้อผ้า ของที่ระลึกต่างๆ เครื่องเงิน เครื่องเขิน เนื่องจากเชียงใหม่มีวัตถุดิบที่สำคัญและมีแรงงานที่ชำนาญงานและยังเป็นแหล่งตลาดที่สำคัญของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ
.

การแกะสลักไม้ เป็นการแกะสลักเป็นรูปต่างๆ ที่นิยมกันมากคื่อรูปช้าง ปัจจุบันแหล่งแกะสลักที่มีชื่อเสียงได้แก่ อำเภอสันกำแพง ,บ้านถวายอำเภอหางดง
.

เครื่องเงิน หมู่บ้านวัวลาย ถนนวัวลาย อำเภอเมืองเชียงใหม่ เป็นแหล่งผลิตเครื่องเงินอันลือชื่อของเชียงใหม่ ซึ่งเป็นอาชีพที่สืบต่อกันมาปรากฏตามตำนานเมืองเหนือว่า ได้เข้ามาอยู่ในเชียงใหม่ในสมัยพระเจ้าช้างเผือก หรือพระเจ้าน้อยธรรมลังกา ประมาณปี พ.ศ.2353 อาชีพการทำเครื่องเงินมีในอำเภอต่างๆ โดยมากจะทำในบริษัทที่จัดตั้งขึ้นเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว เช่นตามเส้นทางจากอำเภอเมืองเชียงใหม่ไปอำเภอสันกำแพง
.

3. การค้าและบริการ
.

3.1 การค้า
ธุรกิจส่วนใหญ่จะตั้งอยู่ในเขตอำเภอเมืองเชียงใหม่ และกระจายไปยังอำเภอต่างๆ ที่มีสภาพเศรษฐกิจดี เช่น อำเภอสันกำแพง สันทราย สันป่าตอง แม่ริม ฝาง และสารภี เชียงใหม่เป็นศุนย์กลางทางธุรกิจภาคเหนือที่มีความสะดวกในการคมนาคมขนส่งสินค้าสำคัญได้แก่ สินค้าการเกษตร และสินค้าพื้นเมือง เช่นเสื้อผ้าพื้นเมือง เครื่องเงิน เครื่องเขิน ไม้แกะสลัก เป็นต้น เชียงใหม่มีตลาดสดและศูนย์การค้าหลายแห่ง เช่น ตลาดวโรสร (กาดหลวง) ตลาดต้นลำใย ศูนย์การค้ากาดสวนแก้ว ศูนย์การค้าโรบินสัน แอร์พอร์ต ในท้องถิ่นอื่นๆมีธุรกิจเป็นตลาดนัดสินค้า (กาดวัว) มีกำหนดนัดผลัดเปลี่ยนกันไปในแต่ละพื้นที่
.

3.2 การบริการ
.

ธุรกิจด้านการบริการการท่องเที่ยว เป็นอาชีพที่สำคัญมากอย่างหนึ่งของจังหวัดเชียงใหม่โดยเฉพาะ กิจการด้านโรงแรม มีโรงแรมที่ทันสมัยสะดวกสบายมากมาย การขนส่ง ทางรถไฟ เครื่องบินและรถยนต์ที่สะดวกสบาย ภัตราการ ร้านอาหาร ซึ่งสามารถรับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศได้อย่างพอเพียง
.

4. การท่องเที่ยว
จังหวัดเชียงใหม่เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวของจังหวัดภาคเหนือตอนบน เนื่องจากเป็นจังหวัดที่มีความอุดมสมบูรณ์ทั้งทางด้านทรัพยากรทางการท่องเที่ยว ทั้งทางด้านแหล่งท่องเที่ยวประเภทธรรมชาติ ประเภทประวัติศาสตร์ โบราณคดีและวัฒนธรรมประเพณี ประชาชนชาวเชียงใหม่มีความภาคภูมิใจในความเป็นมาอันยาวนานของตนเอง ในปี พ.ศ. 2543 ซึ่งเป็นปีขึ้นสหัสวรรษใหม่
.

เชียงใหม่ก็จะมีอายุได้ 704 ปี ชาวเชียงใหม่เป็นคนที่มีนิสัยรักสงบ มีความโอบอ้อมอารี หน้าตายิ้มแย้มแจ่มใสและมีความขยันหมั่นเพียรในการประกอบอาชีพ
.

ปัจจุบันจังหวัดเชียงใหม่มีความเจริญก้าวหน้ามากอาจกล่าวได้ว่าเป็นเมืองหลวงแห่งที่สอง รองจากกรุงเทพฯ มีสถานศึกษาที่ดีตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงมหาวิทยาลัยที่จะให้ลูกหลานชาวเชียงใหม่ได้เลือกเข้าศึกษา และโดยเฉพาะการท่องเที่ยวที่ทำรายได้ให้กับประชาชนเชียงใหม่ อันเกิดจากการที่จังหวัดเชียงใหม่ได้รับขนานนามว่า “กุหลาบงามของเมืองไทย” เนื่องจากมีความงดงามของธรรมชาติ ภูมิอากาศ มีโบราณสถาน โบราณวัตถุอันเก่าแก่ ตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณี และวัฒนธรรมที่เก่าแก่ ล้วนแต่เป็นสิ่งดึงดูดใจของนักท่องเที่ยว
.
ที่มา:http://www.peeso.itgo.com/eco_cm.htm

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น